“ฮาโกดาเตะ” เมืองที่มีเสน่ห์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหาผู้คนพากันย้ายออก!

“ฮาโกดาเตะ” เมืองท่าเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของเกาะฮอกไกโด ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่มีวิวทิวทัศน์ยามค่ำคืนสวยที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก นอกจากนี้ยังได้รับการโหวตว่าเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น และยังเป็นเมืองที่รถไฟหัวกระสุนชินกันเซ็นแล่นมาถึงเป็นเมืองแรกของเกาะฮอกไกโดอีกด้วย

คุณจุน คาวากุจิ นักข่าวท้องถิ่นของ NHK ประจำเมืองฮาโกดาเตะ ได้ทำการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวที่มาเยือนฮาโกดาเตะ ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อยากมาอยู่ที่เมืองนี้จังเลย’ แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวเมืองฮาโกดาเตะนั้นอยากจะย้ายออกไปอยู่เมืองอื่นมากกว่า โดยปัญหาหลักที่ทำให้ต้องย้ายออกไปจากเมืองนี้ก็คือ “การเลี้ยงดูเด็ก”

เมืองที่ประสบความสำเร็จในด้านการท่องเที่ยว แต่…

ฮาโกดาเตะ
“รถราง” พาหนะ สุดคลาสสิค สัญลักษณ์ของเมืองฮาโกดาเตะ

ในปัจจุบันเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมมากถึงปีละ 5 ล้านคน และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยเอกชน ในการจัดลำดับ ‘เมืองที่มีเสน่ห์มากที่สุดในญี่ปุ่น’ และฮาโกดาเตะก็ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ถึง 2 ปีซ้อน

จากฐานข้อมูลของเมืองฮาโกดาเตะในปี 2019 นับตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน มีจำนวนนักเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนฮาโกดาเตะ 3,439,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (ในช่วงเวลาเดียวกัน) มากถึง 188,000 คน เป็นผลมาจากการที่ปีนี้ญี่ปุ่นมีวันหยุดยาวติดกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 10 วัน เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะสละราชสมบัติ และคาบเกี่ยวกับช่วงวันหยุดสัปดาห์ทอง (Golden Week) ของญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีเวลาในการเที่ยวพักผ่อนมากขึ้น

ฮาโกดาเตะ
กระเช้าชมเมือง “Hakodate Mt. Ropeway” อัดแน่นไปด้วยนักเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการไปชื่นชมทัศนียภาศอันสวยงามติด 1ใน 3 ของโลก จากบนภูเขาฮาโกดาเตะ

ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นับตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนเมืองฮาโกดาเตะ ประมาณ 216,000 คน ลดลงจากปีที่แล้ว ประมาณ 5,000 คน โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน (113,200 คน), จีน (41,300 คน), และไทย (11,300 คน)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาฮาโกดาเตะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของซัปโปโร เมืองหลวงของจังหวัดฮอกไกโด รวมถึงการมาถึงของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอย่างชินกันเซ็น ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็ว มีแผนการสร้างโรงแรมเพิ่มอีกมากมายในเมืองฮาโกดาเตะ ซึ่งคาดว่าเมื่อทุกโครงการเสร็จสิ้นจะมีจำนวนห้องพักเพิ่มขึ้นมากถึง 3,000 ห้อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจัดอันดับ ‘ดัชนีความสุขของประชน’ ที่ดำเนินการโดยบริษัทตรวจสอบเครดิตเอกชนนั้นพบว่า ดัชนีความสุขของชาวเมืองฮาโกาดาเตะรั้ง 3 อันดับสุดท้ายของประเทศ แตกต่างกับความสุขของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างสิ้นเชิง

ผู้คนที่ค่อย ๆ ย้ายออกไป

ฮาโกดาเตะ
ป้อมโกะเรียวคาคุ หรือป้อมดาว 5 แยก แลนมาร์คสำคัญของเมืองฮาโกดาเตะ

ตอนนี้ ปัญหาร้ายแรงที่เมืองฮาโกดาเตะกำลังเผชิญอยู่ คือ “การลดลงของจำนวนประชากร”

จากผลสำรวจของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (総務省) ของญี่ปุ่น พบว่าในปีที่แล้วจำนวนประชากรของฮาโกดาเตะลดลงมากถึง 3,571 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในจังหวัดฮอกไกโด และในปีนี้มีจำนวนประชากรที่แจ้งย้ายออกจากเมืองฮาโกดาเตะมากถึง 1,300 คน สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ

อัตราการลดลงของจำนวนประชากรในเมืองฮาโกดาเตะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2009-2018) มีจำนวนประกรลดลงมาถึง 30,000 คน ทั้งๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และมีแต่คน(นอก)อยากเข้ามาอยู่อาศัย

จากการสัมภาษณ์ของทาง NHK หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ประชากรจากเมืองฮาโกดาเตะ ตัดที่ใจที่จะย้ายออกไปอยู่เมืองอื่นก็คือ “ปัญหาในการเลี้ยงดูเด็ก”

จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ที่บันทึกโดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น ระบุว่าประชากรย้ายออกไปอยู่อาศัยที่เมืองข้างเคียงอย่างเมืองโฮคุโตะ (Hokuto) และนานาเอะ (Nanae) มากกว่าปีละ 1,000 คน โดยใน 5 ปีที่ผ่านมาได้มีประชากรโยกย้ายถิ่นฐานมากถึง 5,605 คน! ในจำนวนนี้ มากกว่า 66% เป็นประชากรที่อายุต่ำกว่า 40 ปี นั่นหมายความว่า กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่พากันอพยพออกไปคือคนหนุ่มสาวนั่นเอง และมีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคตอันใกล้ประชากรในเมืองฮาโกดาเตะจะเหลือเพียงผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งตรงจุดนี้จะส่งผลต่อการเสียภาษีด้วยค่ะ เพราะว่าผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีจะหยุดจ่ายเงินภาษีและเริ่มรับเบี้ยบำนาญ ภาระที่เหลือจึงไปตกอยู่ที่คนวัยหนุ่มสาวที่มีจำนวนเหลือน้อยในเมืองที่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อจ่ายภาษีส่งให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น ในขณะที่บางรายมีรายได้แทบไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีด้วยซ้ำ ก็ทำให้จำนวนผู้เสียภาษีนั้นน้อยลงไปอีก

ฮาโกดาเตะ
เส้นทางที่เชื่อมเมืองฮาโกดาเตะและเมืองโฮคุโตะ สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนาและภูเขาเขียวขจี

นักข่าวของ NHK ได้ทำการสัมภาษณ์ คุณ Chiho Tsukada คุณแม่ลูกสาม วัย 34 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในประชากรที่ย้ายออกจากเมืองฮาโกดาเตะมาอาศัยอยู่ที่เมืองโฮคุโตะ กล่าวว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เธอตัดสินใจย้ายจากออกเมืองฮาโกดาเตะก็คือ “ปัญหาค่ารักษาพยาบาลของเด็ก ๆ”

คุณชิโฮะเล่าว่า เมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากที่เธอคลอดลูกสาวคนโต เธอได้ตรวจสอบมาตรการการดูแลเด็กของแต่และเขต และพบว่า เมืองโฮคุโตะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฮาโกดาเตะ (ขับรถประมาณครึ่งชั่วโมง) นั้นมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเด็กฟรีจนถึงชั้นมัธยมปลาย จึงทำให้เธอตัดสินใจย้ายออกจากเมืองฮาโกดาเตะมาอยู่ที่นี่ ต่อมาเมื่อลูกสาวคนที่สองของเธอต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1 สัปดาห์ รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองโฮคุโตะก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและค่ายาทั้งหมด ทำให้ลูกสาวลูกสาวของเธอได้รับการรักษาอย่างดี ซึ่งคุณชิโฮะก็คิดว่าจะยังอาศัยอยู่ที่เมืองโฮคุโตะนี้ต่อไป จนกว่าสวัสดิการเหล่านี้จะสิ้นสุดลง

อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่าแต่ละพื้นที่มีนโยบายไม่เหมือนกันเหรอ? คำตอบคือไม่เหมือนค่ะ เพราะญี่ปุ่นมีระบบการกระจายอำนาจการบริหารสู่ท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรีของแต่ละเขตนั้น จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ได้ถูกส่งมาจากส่วนกลางแบบประเทศไทย ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นค่อนข้างที่จะมีอิสระในการจัดการทรัพย์สิน และออกกฎระเบียบของแต่ละท้องถิ่นได้เอง ดังนั้น แต่ละเมืองก็จะทำการแข่งขันกันเพื่อพัฒนาเมืองของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาทำงาน/อยู่อาศัย และจ่ายภาษี อันจะเป็นรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นในการบริหารเมืองต่อไป

นอกจากนี้คุณชิโฮะยังกล่าวอีกว่า “การคมนาคมในฮาโกดาเตะนั้นสะดวกสบายมากกว่าที่โฮคุโตะก็จริง แต่พอพูดถึงสวัสดิิการการรักษาพยาบาลสำหรับเด็กนั้นไม่ถือว่าฟรีซะเดียว ดังนั้นในขณะที่ลูกยังเล็ก ฉันก็ไม่มีความคิดที่จะย้ายกลับไปค่ะ”

ค่ารักษาพยายบาลสำหรับเด็ก

เงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล

ความแตกต่างของเงื่อนไขในการรับเงินช่วยเหลือสำหรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของเด็กระหว่าง 3 เมืองนี้ มีช่องว่างขนาดใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากเมืองโฮคุโตะและนานาเอะนั้น เด็กจะได้รับเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยฟรีจนกว่าพวกเขาจะจบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย ในขณะที่เงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือของเมืองฮาโกดาเตะนั้นแตกต่างออกไปจากเมืองอื่น

เงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของเด็กในเมืองฮาโกดาเตะนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ อย่างเมืองโฮคุโตะและนานาเอะ เพราะมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีก โดยพิจารณาจากรายรับของแต่ละครัวเรือนและอายุของเด็กเป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรายได้ของเมืองในปีนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุต่ำวก่า 3 ปี ค่าใช้จ่ายแรกเข้า (ระบบการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่นนั้น หากมาที่โรงพยาบาลเป็นครั้งแรก จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าทำให้ค่ารักษาแพงขึ้นมากว่าปกติ และจะไม่เรียกเก็บซ้ำ) และค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วนนอกฟรี ในขณะที่เด็กที่มีอายุมากกว่า 3 ปี แต่ไม่เกินระดับชั้นมัธยมต้น หากรายได้ของครัวเรือนเข้าข่ายเป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเมืองก็ยังจะได้เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเด็กตรงส่วนนี้เช่นกัน แต่ถ้าหากว่ามาจากครอบครัวที่รายได้ถึงเกณฑ์การเสียภาษีเมืองก็จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลบางส่วนหลดหลั่นตามขั้นบันได

ผลสำรวจของผลกระทบจากการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในเด็ก

อ้างอิงจากผลสำรวจที่ทางเทศบาลเมืองฮาโกดาเตะได้จัดทำขึ้น โดยรวบรวมการกรอกแบบสอบถามจาก 4,035 ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กอาศัยอยู่ พบว่า มากกว่า 22% นั้น ไม่เคยพาลูกไปโรงพยาบาล เพราะพวกเขาไม่มีเงิน และเป็นความจริงที่ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กนั้นถือเป็นภาระที่หนักของครอบครัว ทำให้ในหลาย ๆ กรณีพวกเขาไม่สามารถพาลูก ๆ ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้

อย่างไรก็ดี นายกเทศมนตรีเมืองฮาโกดาเตะอย่างคุณโทชิกิ คุโด (工藤 寿樹) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เขาประกาศกร้าวว่าจะต่อสู้กับวิกฤติการลดลงของจำนวนประชากรในฮาโกดาเตะ และตั้งเป้าที่จะทำให้ฮาโกดาเตะกลายเป็นเมืองที่มีสวัสดิการดีที่สุดในญี่ปุ่นให้ได้

หนึ่งในค่าใช้จ่ายของทางเทศบาลเมืองฮาโกดาเตะที่ขยายตัวมากขึ้นทุกปี ก็คือ “งบประมาณด้านการท่องเที่ยว” ทางเทศบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการติดตั้งป้ายบอกทางสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ รวมไปถึงการโปรโมตการท่องเที่ยวฮาโกดาเตะในต่างประเทศด้วย

นอกจากงบประมาณด้านการท่องเที่ยวที่ทางเทศบาลกล่าวว่ามีความจำเป็นแล้ว ยังมีแผนต่อเนื่องในการปรับปรุงลานจอดรถของเทศบาลและการบำรุงรักษาท่าเรือเพื่อรองรับจำนวนเรือที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฮาโกดาเตะเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเกาะฮอกไกโด และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะฮอกไกโด ก่อนที่จะนั่งรถไฟชินกันเซ็นข้ามไปเกาะฮอนชูเพื่อท่องเที่ยวยังภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่นต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำให้เก็บ “ภาษีที่พัก” จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

สนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ๆ แต่…

ทางเทศบาลเมืองฮาโกดาเตะได้มีการตัดสินใจที่จะขยายวงเงินการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลเด็กบางส่วน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2020 เป็นต้นไป แต่ถึงกระนั้น ก็ได้ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะบริการประชาชนตรงส่วนนี้ให้เหมือนกับที่เทศบาลในท้องถิ่นอื่น ๆ ทำ

สิ่งที่สำคัญกว่าการแข่งขัน คือ “การรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลาย ๆ เมืองในญี่ปุ่นได้ริเริ่มนโยบายในการดึงดูดให้ประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเขตเทศบาลของตน บางแห่งเสนอที่อยู่อาศัยให้ฟรี ในขณะที่บางแห่งก็แข่งขันกันด้านสวัสดิการการดูแลเด็กที่มากกว่า เพื่อดึงดูดประชากรที่ต้องการวางแผนที่จะมีครอบครัวให้เข้ามาอยู่อาศัย แต่หากดูจากผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ชัยชนะของการแข่งขันกันของเทศบาลแต่ละเมืองนั้น อาจจะกลายเป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนเองก็ได้ สิ่งสำคัญที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นควรให้ความสำคัญ ไม่ใช่การแข่งขัน แต่คือการรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง และสร้างเมืองร่วมกันกับคนในชุมชน

ปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรมิได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองฮาโกดาเตะเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายเมืองในญี่ปุ่น หากพิจารณาที่ค่าใช้จ่ายในการมีเด็กคนหนึ่งแล้ว การที่รัฐไม่สามารถช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้เท่าที่ควร จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าเหตุใดจำนวนประชากรที่ต้องการมีลูกนั้นลดลงไปเรื่อย ๆ จนนำพาประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะวิกฤติทางประชากรเช่นนี้

ส่วนตัวผู้เขียนเอง ย้ายจากเมืองใหญ่มาอยู่ที่ฮาโกดาเตะได้ประมาณเกือบปีแล้ว สัมผัสได้ถึงจุดแข็งของฮาโกดาเตะคือมีทัศนียภาพที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย อาหารอร่อย แต่สำหรับคนวัยทำงานแล้ว ผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วยกับประชากรที่ย้ายออกไปว่าเมืองฮาโกดาเตะนั้นไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตอยู่เท่าไรนัก แต่เหมาะกับการเข้ามาท่องเที่ยวชั่วคราวมากกว่า นอกจากปัญหาสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กแล้ว การคมนาคมภายในตัวเมืองนั้นก็ไม่ถือว่าสะดวกซะทีเดียว เมื่อเทียบกับเมืองท่าอื่น ๆ ในญี่ปุ่น

ฮาโกดาเตะ
รถไฟชินกันเซ็น Hayabusa เส้นทางการเดินรถเริ่มจาก สถานี Shin-Hakodate Hokuto ไปสิ้นสุดยังสถานี Tokyo

ฮาโกดาเตะเป็นเมืองที่มีรถไฟชินกันเซ็นมาถึงก็จริง ทว่าไม่ได้มาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่มาเพราะเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเกาะหลักอย่างเกาะฮอนชูมากที่สุด ชินกันเซ็นจึงมาถึงที่นี่ก่อน และเส้นทางที่รถไฟผ่านจะจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร ก็เป็นเพียงทางผ่านเพื่อเดินทางต่อไปเมืองอื่นๆ เท่านั้น การคมนาคมหลักภายในตัวเมืองยังคงเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถบัส (ที่กะเวลาไม่ได้เลยหากหิมะตก) และรถรางประจำเมืองที่เมืองที่มีสายเดียวในเส้นทางสั้น ๆ อีกทั้งสวัสดิการและกิจกรรมยามว่างสำหรับคนหนุ่มสาวนั้นมีน้อยเกินไป ทำให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่นี่เมื่อเรียนจบม.ปลายแล้วจะออกไปเรียนต่อในเมืองใหญ่ หางานทำ และไม่กลับมาอีก จึงเหลือเพียงคนแก่และเด็กเท่านั้น ทำให้เมืองที่มีต้นทุนทางทรัพยากรอย่างล้นเหลือแห่งนี้ดูไร้พลัง ร้านค้าหลาย ๆร้านทยอยปิดตัวลงไปเพราะไม่มีคนใช้บริการ

ปูหิมะตัวใหญ่ หนึ่งในอาหารยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่ตลาดเช้าฮาโกดาเตะ

หากแต่การเข้ามาของกลุ่มทัวร์ของนักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทำให้ตลาดเช้าฮาโกดาเตะ (Hakodate Morning Market) กลับมาคึกคัก และดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาสร้างความสดใสให้กับฮาโกดาเตะอีกครั้ง รัฐบาลท้องถิ่นจึงทุ่มงบไปกับการท่องเที่ยวมหาศาล แต่ส่วนตัวผู้เขียนมองว่ามันไม่ใช่ความยั่งยืน ความสุขของประชากรเองก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นภารกิจหลักเร่งด่วนที่รัฐบาลท้องถิ่นควรลงทุนจึงไม่ใช่ในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่เป็นการหาทางดึงดัชนีความสุขมวลรวมของประชากรในฮาโกดาเตะให้เพิ่มขึ้นมากกว่า

อ้างอิงเนื้อหาจาก: NHK
ผู้เขียน: A Housewife  Wannabe

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save