“ห้ามสวมหน้ากากอนามัย SHARP”, “ตัดสิทธิ์นักเรียนสวมหน้ากากจมูกโผล่” สิ่งที่เปลี่ยนไปกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นในยุคโควิด

ปีนี้เป็นปีแรกของการเปลี่ยนมาใช้ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ในประเทศญี่ปุ่น จากเดิมที่เคยใช้ระบบการสอบข้อสอบกลาง เรียกในภาษาญี่ปุ่นคือ ไดงะคุ นิวชิ เซ็นเตอร์ ชิเคน (大学入試センター試験) หรือชื่อย่ออย่างเป็นทางการคือ เซ็นเตอร์ ชิเคน (センター試験) มาตั้งแต่ปี 1990 โดยนักเรียนจากทั่วประเทศญี่ปุ่นจะทำการสอบข้อสอบกลางชุดเดียวกัน ก่อนนำคะแนนสอบไปยื่นเข้าหรือยื่นขอสอบเข้าในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

แต่ในปี 2021 นี้ ได้มีการเปลี่ยนเป็นระบบสอบกลางร่วม ที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ไดงะคุ นิวงะคุ เคียวซู เทส (大学入学共通テスト) หรือชื่อย่ออย่างเป็นทางการคือ เคียวซู เทส (共通テスト) ที่ถึงแม้จะไม่มีความแตกต่างจากการสอบระดับประเทศแบบเดิมมากนัก แต่จะให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์, ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษมากขึ้น

สิ่งที่เปลี่ยนไปกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยญี่ปุ่นในยุคโควิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 จนถึงขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นายกรัฐมนตรี นายซูกะ โยชิฮิเดะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางจังหวัด และมีการระงับการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติเป็นการชั่วคราว

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นประจำปี 2021 จัดขึ้นในวันที่ 16, 17 มกราคม มีผู้มีสิทธิ์สอบ 535,245 คน ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้วอยู่ 22,454 คน อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักเช่นนี้ ส่งผลให้ข้อปฏิบัติในการสอบมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ห้ามสวมหน้ากากอนามัยยี่ห้อ SHARP เข้าห้องสอบ!?

ศูนย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติ (DNC) ประกาศเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการสอบในปี 2021 โดยห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิ์เข้าสอบสวมหน้ากากอนามัยที่มีลายพิมพ์ “แผนที่” และ “ประโยคภาษาอังกฤษ”

จากการประกาศนี้ ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นว่า ข้อห้ามดังกล่าวได้หมายรวมถึงหน้ากากอนามัยที่มีชื่อแบรนด์ภาษาอังกฤษติดอยู่ด้วยหรือไม่? และมีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียว่า “โปรดระวังการสวมหน้ากากอนามัยยี่ห้อ SHARP เข้าห้องสอบ เพราะการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวันพรุ่งนี้มีกฎห้ามสวมหน้ากากอนามัยที่มีลายพิมพ์แผนที่และประโยคภาษาอังกฤษ”ซึ่งหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งยี่ห้อ SHARP จะมีโลโก้อักษรภาษาอังกฤษขนาดเล็กประทับตราอยู่ที่มุมขวาล่างของหน้ากาก

อย่างไรก็ตาม บริษัท SHARP ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านบัญชีทวิตเตอร์ในช่วงเช้าของวันที่ 15 มกราคมว่า “เราได้รับการติดต่อจากศูนย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติ และยืนยันว่าผู้มีสิทธิ์สอบสามารถสวมหน้ากากอนามัย SHARP เข้าห้องสอบได้ ขอให้ทุกคนหายห่วง และขอให้พยายามในการสอบด้วย”

นอกจากนี้ ศูนย์การสอบฯ ยังได้ยืนยันอีกว่า หน้ากากอนามัยที่มีลายพิมพ์โลโก้อักษรภาษาอังกฤษของแบรนด์ประทับอยู่นั้นสามารถสวมเข้าห้องสอบได้อย่างไม่มีปัญหา อีกทั้ง ยังสามารถสวมหน้ากากอนามัยแบบแฮนด์เมดได้ แต่หน้ากากจะต้องคลุมบริเวณปากและจมูกได้อย่างมิดชิด และต้องซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย หากพบผู้ที่สวมหน้ากากผิดกฎข้อบังคับข้างต้น ศูนย์การสอบฯ ก็ได้เตรียมหน้ากากอนามัยสำรองไว้ให้ที่สนามสอบแล้ว

คะแนนสอบเป็นโมฆะ! ตัดสิทธิ์นักเรียนสวมหน้ากากจมูกโผล่

วันที่ 17 มกราคม ศูนย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติได้ออกแถลงถึงเหตุการณ์ในสนามสอบกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 16 ว่ามีนักเรียนผู้เข้าสอบ 1 รายสวมหน้ากากอนามัยไว้ใต้คาง โดยส่วนจมูกได้อยู่ด้านนอกหน้ากาก และนักเรียนได้แสดงพฤติกรรมเพิกเฉยแม้เจ้าหน้าที่คุมสอบจะตักเตือนหลายครั้งแล้วก็ตาม จึงตัดสินให้คะแนนสอบของนักเรียนรายนี้เป็นโมฆะ

ศูนย์การสอบฯ ยังรายงานอีกว่า ผู้คุมสอบได้กล่าวตักเตือนนักเรียนคนดังกล่าวให้สวมหน้ากากอนามัยคลุมถึงจมูกในระหว่างการสอบวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และพลเมือง, วิชาภาษาญี่ปุ่น และวิชาภาษาต่างประเทศ เป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง แม้จะเตือนแล้วว่าอาจถูกตัดสิทธิ์ทำให้คะแนนเป็นโมฆะแล้วก็ตาม แต่นักเรียนยังคงเพิกเฉยและไม่สวมหน้ากากให้คลุมจมูก จึงตัดสินว่านักเรียนมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามกฎในการสอบ

ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ มีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยผู้เข้าสอบจะต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องและถูกสุขลักษณะ ในขณะที่นักเรียนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สามารถยื่นเจตจำนงเพื่อขอเข้าสอบในห้องพิเศษโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยได้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การสอบฯ ได้อธิบายในกรณีของเด็กนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์ว่า “แม้นักเรียนจะไม่มีอาการผิดปกติ เช่น อาการไอ ฯลฯ แต่นักเรียนผู้กระทำผิดมีเจตนาที่จะดึงหน้ากากอนามัยลง เผยให้เห็นบริเวณจมูก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหายใจไม่สะดวก นักเรียนสามารถดึงหน้ากากอนามัยลงเพื่อหายใจนอกหน้ากากได้เป็นบางครั้งบางคราวโดยไม่ผิดกฎข้อปฏิบัติในห้องสอบแต่อย่างใด แต่นักเรียนผู้กระทำผิดได้ถูกตักเตือนซ้ำหลายครั้งและยังเพิกเฉย จึงมีการตัดสินจากเหตุการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้น”

แม้เราจะยังไม่รู้เลยว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดโดยสมบูรณ์เมื่อไหร่ แต่มีหลายสิ่งที่มนุษย์จะต้องปรับตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ตนเองติดเชื้อไวรัส แต่ต้องมีความเห็นอกเห็นใจในความปลอดภัยของผู้อื่นด้วย

สรุปเนื้อหาจาก : j-cast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save