สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาว่าทีมชาติญี่ปุ่นจะจัดการแข่งขัน “กระชับมิตร” กับทีมชาติเกาหลีในคืนวันที่ 25 มีนาคมนี้ ที่นิสสันสเตเดียม
แต่เดี๋ยวก่อนนะครับในศึก East Asian Cup เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ตอนนั้นกองเชียร์เกาหลีใต้ยังถือป้ายว่า “ไม่มีอนาคตสำหรับชนชาติที่ลืมประวัติศาสตร์” อยู่เลยนะครับ บอกตรงๆ ไม่รู้ว่าจะมีภาพลักษณะนี้โผล่ขึ้นมาอีกในวันที่ 25 มีนาคมนี้หรือเปล่า?
อันที่จริงแล้วเดิมทีทีมชาติญี่ปุ่นมีแผนที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียนัดที่ 2 กับเมียนมา ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ที่นิสสันสเตเดียมนั่นแหละ แต่เนื่องจากรัฐประหารในเมียนมา การแข่งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกนัดที่ว่าก็เลยต้องเลื่อนออกไป ก็เลยคิดเอาการแข่งฟุตบอล “กระชับมิตร” กับเกาหลีใต้มาเสียบแทน ซึ่งทางเกาหลีใต้ก็ได้ตอบรับกลับมาแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคมนี้เอง
ผู้เขียนอ่านข่าวนี้แล้วก็แปลกใจดีครับว่าทาง JFA นึกยังไงจะมาจัดแข่งฟุตบอลกับเกาหลีใต้ในชั่วโมงนี้ (ซึ่งเรารู้กันอยู่ว่าตอนนี้กระแสแอนตี้ญี่ปุ่นในเกาหลีใต้มาแรงขึ้นอีกแล้ว) อาจจะอยาก “กระชับมิตร” จริงๆ ก็ได้ท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ แต่หากท่านผู้อ่านจะลองคิดมุมกลับว่า อันว่า “กีฬา” ระหว่างประเทศนั้น หลายครั้งมันก็กลายเป็น “สงครามจำลอง” หรือ “เครื่องอวดอำนาจ” ของประเทศที่มีอำนาจที่จะอวดใส่กันว่าประเทศไหน “เจ๋ง” กว่า ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นสิ่งรวมน้ำใจคนในประเทศนั้นๆ ให้เกิดความ “ชาตินิยม” ขึ้นมา (รักชาติของเรา เชียร์ทีมชาติของเรา บางทีก็เลยเถิดไปถึงการหมายตัวชาตินั้นชาตินี้ว่าเป็น “ชาติศัตรู” ห้ามแพ้มัน) แล้วงวดนี้มาเตะกันในบ้านของญี่ปุ่นเสียด้วย งานนี้รอดูผลการแข่งดีกว่าว่าจะเกิดปฏิกิริยาอะไรกันบ้าง แล้วเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะ “กระชับมิตร” กันได้จริงไหม
อย่างที่ได้เคยนำเสนอท่านผู้อ่านแล้วว่า ตอนนี้ประเด็นความขัดแย้งและแอนตี้ญี่ปุ่นนั้นถูกจุดขึ้นใหม่เพราะเรื่องคดี “ผู้หญิงปลอบขวัญ” อย่างไรก็แล้วแต่ การที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เลวลงนั้น จะทำให้เกิด “เงามืด” ในประเด็นด้านความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สองประเทศยากจะประสานกัน ประเทศมหาอำนาจทางทหารอย่างสหรัฐฯ รัสเซีย หรือจีน จะ “ขยับ” ไปในทางใดนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าดูชม
ประการแรก สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กำลัง “เรียกร้อง” ให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศออกเงินค่าใช้จ่ายสำหรับกองทัพสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ประเทศของตน (ฟังแล้วเหมือนกำลังเก็บ “ค่าคุ้มครอง” ยังไงยังงั้น) ตามรายงานโครงสร้างฐานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าสหรัฐฯ มีฐานทัพใน 45 ประเทศทั่วโลก ในเยอรมนีมีฐานทัพมากที่สุดคือ 194 ฐาน ในญี่ปุ่นมี 121 ฐาน ในเกาหลีใต้ 83 ฐาน อันเป็นสิ่งที่เหลือมาจากยุคสงครามเย็น
ลองคิดดูนะครับ ยุคสงครามเย็นคือสหรัฐฯ ผู้นำค่ายโลกเสรีต้องคอยสกัดกั้นการรุนราน แผ่อิทธิพลของสองพี่ใหญ่ค่ายคอมมิวนิสต์คือ “จีน” กับ “รัสเซีย” ด้วยเหตุนี้คาบสมุทรเกาหลีจึงต้องแตกออกเป็นเกาหลีเหนือ (อดีตลูกรักรัสเซียยุคสตาลิน มาวันนี้เป็นลูกไล่ของจีน) กับเกาหลีใต้ (ลูกสมุนอเมริกาตามทัศนะของเกาหลีเหนือ) แต่ก่อนยุคสตาลินและคิมอิลซอง (ปู่ของเด็กสมบูรณ์คิมจองอึน) ตอนช่วงแรกของสงครามเกาหลีซึ่งฝ่ายเหนือยึดฝ่ายใต้แทบจะหมดประเทศ สตาลินบอกว่ายึดคาบสมุทรเกาหลีได้หมดเมื่อไหร่คิวต่อไปคือญี่ปุ่น อ่านถึงตรงนี้เข้าใจความรู้สึกแล้วใช่ไหมครับว่าทำไมทุกวันนี้สหรัฐฯ จึงต้องมีฐานทัพในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น?
อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น สหรัฐฯ ได้ปรับโครงสร้างใหม่ ลดจำนวนฐานทัพ แต่นั่นเป็นแค่ในภาคพื้นยุโรป แต่ในเอเชียตะวันออกไกล ภัยคุกคามยังไม่จบ เพราะเกาหลีเหนือยังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธไม่รู้จักจบ แถมพี่จีนก็กลายเป็นมหาอำนาจของจริงที่ไม่ได้มีแต่คนเยอะๆ กับเทคโนโลยีโลว์เทคอีกต่อไปแล้ว พี่จีนกลายเป็นมหาอำนาจของจริงที่มีเงินเยอะ มีปืน และมีเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำแล้วด้วย
ตามสถิติของค่าใช้จ่ายในการประจำการฯ โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2547 ญี่ปุ่นต้องออกเงินค่าใช้จ่ายในการประจำการของทหารสหรัฐฯ ถึง 74.5% ที่ 4,411 ล้านดอลลาร์ แถมเมื่อเทียบกับประเทศเยอรมนี อิตาลี ซึ่งยังคงมีอธิปไตยเหนือฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศของตน ฐานทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นนั้นกลับกลายเป็นเขต “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไป (พูดง่ายๆ คือเอากฎหมายญี่ปุ่นเข้าไปใช้ในฐานทัพสหรัฐฯ หรือใช้กับทหารสหรัฐฯ ไม่ได้ ไม่แปลกใจที่เวลาทหารอเมริกันฉุดผู้หญิงญี่ปุ่นไปข่มขืนนี่ กฎหมายญี่ปุ่นเอาผิดไม่ได้นะครับ เขาเลยประท้วงกันใหญ่โตเรื่องให้เอาฐานทัพสหรัฐฯ ออกไป) สำหรับกองทัพสหรัฐฯ แล้ว ญี่ปุ่นเป็น “หมูหวาน” ดีๆ นี่เองครับ
เรื่องของการออกเงินค่าใช้จ่ายในการประจำการฯ นั้น ในฝั่งเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ยืนกรานว่า “ประเทศพันธมิตรต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการประจำการฯ 100%” (เพราะประเทศพันธมิตรจะมาทำตัวเป็น free rider (พวกขอพ่วงมานั่งรถฟรี) คือมาอาศัยผลประโยชน์ด้านความมั่นคงจากการมีฐานทัพฯ “เอาฟรีๆ” ไม่ได้) การเจรจาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายฯ รอบที่ 7 จัดขึ้นในเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นการชั่วคราวว่า เกาหลีใต้จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากยอดเงิน ณ ปี พ.ศ. 2562 (1,038,900,000,000 วอน เท่ากับประมาณ 27,973 ล้านบาท) อีก 13% แต่ทรัมป์ยังจะขอเพิ่มอีก เลยยังเจรจากันไม่จบ
อีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นได้ลงนามใน “ข้อตกลงพิเศษเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายในการประจำการของกองทัพสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น” กับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ข้อตกลงพิเศษครอบคลุมค่าใช้จ่ายสามอย่าง ได้แก่ โบนัสและเงินเดือนสำหรับลูกจ้างในฐานทัพ ค่าน้ำค่าไฟที่ทหารสหรัฐฯ ใช้ไปทั้งในและนอกฐาน และค่าใช้จ่ายในการโอนย้ายการฝึกอบรม ปีนี้ ภาระค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 162,300 ล้านเยน (45,686 ล้านบาท) ยังมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารอื่น ๆ ของสหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก นายทรัมป์ยังเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นตั้งแต่เขาได้รับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2559 ว่าหากญี่ปุ่นไม่ยอมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการประจำการกองทัพสหรัฐฯ “เต็มจำนวน” กองทัพสหรัฐฯ อาจถอนกำลัง
ประการที่สอง ในขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องเงินค่าคุ้มครองมากขึ้นทุกที รัสเซียและจีนก็ชอบ “ยั่วยุทางทหาร”
ตามข้อมูลของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น เช้าวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เครื่องบินทิ้งระเบิดของจีน 2 ลำบินจากทะเลจีนตะวันออกไปยังทะเลญี่ปุ่นและเข้าสู่เขตระบุตัวตนการป้องกันทางอากาศของญี่ปุ่นและเครื่องบินรบของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศก็รีบทะยานขึ้นไป หลังจากนั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซีย 2 ลำได้เข้าร่วมกับเครื่องบินของจีน และเครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศของรัสเซีย 1 ลำได้ล่องใต้ไปทางด้านตะวันออกของเกาะทาเคชิมะ และรุกล้ำน่านฟ้าตั้งแต่เวลา 09:09 น. เป็นเวลาประมาณสามนาที เกาหลีใต้ซึ่งอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทาเคชิมะ แถลงว่าได้เอาเครื่องบินรบของกองทัพอากาศเกาหลีใต้ขึ้นบินและยิงปืนกลเตือนมากกว่า 360 นัด อย่างไรก็ดีในส่วนของเกาะทาเคชิมะและอาณาเขตทางเหนือนั้น เนื่องจากไม่ต้องการปะทะกับเกาหลีใต้และรัสเซีย จึงไม่ได้ส่งเครื่องบินขึ้นไปสกัดกั้น
ในเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ประท้วงรัสเซียและเกาหลีใต้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นได้กล่าวว่า “เนื่องจากทาเคชิมะเป็นดินแดนของญี่ปุ่น การจะตอบโต้รัสเซียที่รุกล้ำน่านฟ้าจึงเป็นเรื่องของญี่ปุ่น การกระทำของเกาหลีใต้นั้นขัดต่อจุดยืนของญี่ปุ่น” ส่วนเกาหลีใต้ก็ประท้วงรัสเซียเช่นกัน (ว่ารุกล้ำน่านฟ้าของตน) และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้นั้นกล่าวว่าการที่ญี่ปุ่นประท้วงนั้น “เป็นเรื่องที่รับไม่ได้”
นี่แหละปัญหาในจุดที่เปราะบาง (ว่าเป็นดินแดนหรือน่านฟ้าของใคร) ก็ยิ่งเป็นช่องให้มหาอำนาจทั้งสองแห่งค่ายคอมมิวนิสต์ได้ใจ กองทัพจีนมีเป้าหมายที่จะกำจัดกองทัพสหรัฐฯ ให้พ้นไปจากมหาสมุทรแปซิฟิก งานนี้ก็ต้องจับมือกับรัสเซีย ดูท่าต่อไปจะยิ่งหนักข้อไปเรื่อยๆ
ญี่ปุ่นควรจะทำอย่างไรกับปัญหาความมั่นคงตรงนี้? ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบอกใบ้กลายๆ ว่า จะเป็นการดีกว่าไหมที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีจะ “กระชับมิตร” กัน วางความแอนตี้กันไปก่อนแล้วมาคิดแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงร่วมกัน เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ ก็ไม่พ้นจะเปิดช่องว่างให้มหาอำนาจทั้งสามมายั่วยุ มาฉกฉวย มาช่วงชิง ถึงบอกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปการปลุกกระแสแอนตี้ญี่ปุ่นในเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีมุน โปรดรออีกหน่อย วาระของประธานาธิบดีมุนยังเหลืออีกแค่ปีกว่านิดๆ เท่านั้น หลังจากนี้เปลี่ยนครม. เปลี่ยนผู้บริหารประเทศใหม่ อะไรๆ อาจดีขึ้นก็ได้ (หรือเปล่า) ก็ขอเอาใจช่วยทั้งสองประเทศนะครับ เดี๋ยวหลังวันที่ 25 ฟุตบอลแข่งกันเสร็จจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นจะมานำเสนออีกทีครับ
สรุปเนื้อหาจาก nikkansports และ ismedia