วันที่ 23 พ.ค. 2020 ข่าวการเสียชีวิตของคิมุระ ฮานะ (木村花) สร้างความเสียใจให้กับแฟนคลับและเพื่อนร่วมวงการ พร้อมย้ำเตือนให้ทุกคนได้รับรู้ถึงอันตรายของการ Cyberbully อีกครั้ง ในบทความนี้ เราจะมาย้อนดูกรณี Cyberbully ที่เกิดขึ้นกับคิมุระ ฮานะ และความเคลื่อนไหวต่อการ Cyberbully ในญี่ปุ่นจากเหตุการณ์ครั้งนี้กันค่ะ
คิมุระ ฮานะ คือใคร?
คิมุระ ฮานะ เป็นลูกสาวของคิมุระ เคียวโกะ อดีตนักมวยปล้ำหญิงมืออาชีพ โดยเธอได้ตามรอยแม่ในการก้าวขึ้นเป็นนักมวยปล้ำหญิงมืออาชีพ และกลายเป็นดาวรุ่งของ World Wonder Ring Stardom สังกัดนักมวยปล้ำหญิงมืออาชีพของญี่ปุ่น โดยชนะเลิศในรายการ Championship ของ Stardom และรางวัลอื่นๆ ได้ในวัยที่ยังน้อย
View this post on Instagram
ในปี 2019 คิมุระ ฮานะได้เข้าร่วมแสดงในรายการเรียลลิตี้ญี่ปุ่น “Terrace House 2019-2020” ของ Netflix ซึ่งเป็นรายการที่ให้ชายหญิงที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมาอาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านเพื่อทำความรู้จักไปจนถึงออกเดตกัน โดยคิมุระ ฮานะเป็นที่รู้จักและชื่นชอบในกลุ่มแฟนคลับด้วยบุคลิกน่ารักของเธอ ซึ่งเป็นอีกมุมที่ไม่ค่อยได้เห็นจากในสังเวียน
วันที่ 23 พ.ค. 2020 คิมุระ ฮานะ ถูกพบเสียชีวิตในบ้านพักด้วยวัยเพียง 22 ปี โดยไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น คิมุระ ฮานะได้โพสต์ข้อความบอกลาบนโซเชี่ยลมีเดีย และก่อนหน้านี้ เธอได้โพสต์ข้อความและรูปภาพที่บอกเล่าการทำร้ายตัวเองของเธอ ซึ่งเป็นผลจากการ Cyberbully ที่เธอได้รับในช่วงที่ผ่านมา
การกลั่นแกล้ง และการ Cyberbully ที่เกิดขึ้น
ในอดีต คิมุระ ฮานะเคยเผชิญการกลั่นแกล้งด้วยเหตุผลจากเชื้อชาติของเธอหลังจากที่เธอเปิดเผยต่อสื่อว่าเธอมีพ่อเป็นคนอินโดนีเซีย ทำให้เธอมีอัตลักษณ์เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-อินโดนีเซียและเป็นสาเหตุของการกลั่นแกล้ง ซึ่งการกลั่นแกล้งบุคคลที่มีเชื้อสายอื่นนอกเหนือจากญี่ปุ่นเช่นลูกครึ่งนั้นเป็นอีกรูปแบบการกลั่นแกล้งที่พบได้บ่อยในญี่ปุ่น และเป็นปัญหาทางสังคมและการศึกษาในปัจจุบันของญี่ปุ่นที่ยังไม่หมดไป
การ Cyberbully ที่เกิดขึ้นกับคิมุระ ฮานะในครั้งนี้เป็นผลจากตอนหนึ่งของ Terrace House ที่ผู้ร่วมรายการโคบายาชิ ไค (小林 快) เผลอซักและอบชุดมวยปล้ำของเธอโดยไม่ตั้งใจและทำให้ชุดเสียหาย จึงเป็นเหตุทะเลาะระหว่างคิมุระ ฮานะและโคบายาชิ ไคในรายการ โดยคิมุระ ฮานะบอกว่าชุดนี้สำคัญกับเธอมาก และเธอกับดีไซน์เนอร์พยายามหนักมากกว่าจะทำชุดนี้ออกมาได้ หลังจากนั้นมีการไกล่เกลี่ยกันระหว่างทั้งสอง และคิมุระ ฮานะเองก็ยอมรับว่าเธอก็มีส่วนผิดที่ไม่ได้เก็บชุดออกมาก่อนที่โคบายาชิ ไคจะใช้เครื่องซักผ้า และปรับความเข้าใจกันได้ในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รายการออกเผยแพร่ คลิปเหตุการณ์ทะเลาะระหว่างคิมุระ ฮานะและโคบายาชิ ไคกลายเป็นประเด็นที่ทำให้คิมุระ ฮานะเผชิญกับการ Cyberbully จนทำให้เธอมีภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ในที่สุด
เสียงต่อต้านการ Cyberbully จากญี่ปุ่นและทั้งโลก
ข่าวการเสียชีวิตของคิมุระ ฮานะทำให้ผู้ติดตามรายการ Terrace House แฟนคลับ และคนในวงการมวยปล้ำทั้งในและนอกญี่ปุ่นออกมากล่าวถึงการ Cyberbully หรือแม้แต่คนที่ไม่รู้จักคิมุระ ฮานะมาก่อนก็ติดตามข่าวนี้ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการ Cyberbully อีกครั้ง หลังจากที่ช่วงปลายปี 2019 ศิลปินหญิงชาวเกาหลีใต้คือ Sulli จาก f(x) และ Goo Hara จากวง Kara เสียชีวิตหลังเผชิญกับการ Cyberbully เช่นกัน
ในประเทศญี่ปุ่น การผลักดันให้การ Cyberbully มีผลรับโทษทางกฏหมายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มวงการบันเทิงญี่ปุ่น รวมถึงฮาโตยามะ ยูกิโอะ (鳩山 由紀夫) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองก็กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของคิมุระ ฮานะ และการ Cyberbully ว่า “ญี่ปุ่นควรมีการพิจารณาให้ผู้ที่หมิ่นประมาทผู้อื่นอย่างรุนแรงบนอินเทอร์เน็ตได้รับโทษทางกฎหมาย”
จากกระแสสังคมที่ตื่นตัวเรื่องคิมุระ ฮานะและผลของการ Cyberbully พบว่าแอคเคานท์ของบุคคลต่างๆ ที่เคยโพสต์ข้อความกลั่นแกล้งเธอบนโซเชี่ยลมีเดียต่างลบแอคเคานท์ของตัวเองทิ้งเพื่อปกปิดข้อความที่ตัวเองเคยโพสต์ไว้
การเสียชีวิตของคิมุระ ฮานะเป็นการย้ำเตือนถึงสังคมญี่ปุ่นและสังคมประเทศอื่นทั่วโลกถึงภัยเงียบของการ Cyberbully ที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงเพราะความคิดว่า “ก็เพราะเป็นดารา เป็นคนของสังคมก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์” “เพราะทุกคนพูดแบบนั้นอยู่แล้ว เราเป็นแค่อีกเสียงจะเป็นไรไป” “เขาไม่รู้สักหน่อยว่าเราเป็นใคร เราจะวิจารณ์ยังไงก็ได้” ซึ่งเมื่อความคิดและเสียงเหล่านี้มารวมกันแล้วก็สามารถเป็นแรงมหาศาลที่ทำร้ายคนคนหนึ่งได้อย่างไม่คาดคิด
สรุปเนื้อหาจาก: livedoor