สวัสดีครับท่านผู้อ่าน อย่างที่รู้ๆ กันว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นคู่แข่งดีชิงเด่นกันมาตลอดในหลาย ๆ เรื่อง เมื่อไม่นานมานี้มีบทความที่ทำให้คนญี่ปุ่นหน้าม้านสะท้านใจว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นนั้น “ถูกเกาหลีใต้แซงหน้า” เสียแล้ว
วารสารไดมอนด์ออนไลน์ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ตีพิมพ์บทความที่ระบุว่า อัตราค่าจ้างของคนญี่ปุ่นอยู่รั้งท้ายของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสหกรรมชั้นนำ G7 (อันได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา) โดยอยู่ในอันดับท้าย ๆ ใกล้เคียงกับอิตาลีมาโดยตลอด แต่แล้วในปี 2015 ก็ปรากฎว่าเกาหลีใต้ที่อยู่นอกกลุ่มมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าเสียแล้ว แถมยิ่งทีช่องว่างของอัตราค่าจ้างยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
ค่าจ้างคนญี่ปุ่นคงที่มาตลอด 20 ปี
ผลการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า ในปี 2000 ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 38,364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.22 ล้านเยนหรือ 1.26 ล้านบาท) อยู่ในอันดับที่ 17 จาก 35 ประเทศสมาชิก ในปี 2020 ค่าจ้างเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 38,514 ดอลลาร์ (ประมาณ 4.23 ล้านเยนหรือ 1.29 ล้านบาท) แต่ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 22 จึงเป็นความจริงที่น่าตกใจว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นปรับขึ้นเพียง 0.4% หรือเรียกได้ว่าแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยตลอดช่วงระยะเวลายาวนานถึง 20 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันยังต่ำกว่าเกาหลีใต้อยู่ถึง 3,445 ดอลลาร์ (ประมาณ 379,000 เยน หรือ 110,000 บาท) ทีเดียว
Diamond Online กล่าวถึงเหตุผลห้าประการที่ทำให้อัตราค่าจ้างเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หนึ่งในเหตุผลนั้นคือ “การจัดการทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานระยะยาวโดยกดเงินค่าจ้าง” ในขณะที่เกาหลีใต้มีการปรับปรุงกฎข้อบังคับการทำงานมาตลอดตั้งแต่ปี 1998 และมีสหภาพแรงงานที่มีจุดยืนอันแข็งแกร่งมีอำนาจในการต่อรองกับนายจ้างทำให้แรงงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื้อหาข่าวข้างต้นถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของญี่ปุ่นหลายฉบับ แน่นอนว่าเรื่องเกทับได้อย่างนี้เกาหลีไต้ไม่มีพลาด สื่อเกาหลีใต้เลยนำไปเขียนเป็นข่าวตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2021 อาทิเช่น “ค่าจ้างเฉลี่ยของคนญี่ปุ่น 4.24 ล้านเยนต่ำกว่าเกาหลีใต้ที่ได้ 4.62 ล้านเยน” “อัตราค่าจ้างคนญี่ปุ่นไม่ขยับ 30 ปี รั้งอันดับที่ 22 ใน OECD เกาหลีใต้แซงได้ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว” รวมถึงการวิเคราะห์สาเหตุ เช่น “การขยายตัวของผู้ไม่ได้ทำงานประจำ และอัตราการสร้างแรงงานที่ลดต่ำลง รวมถึงสหภาพแรงงานที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 16.7%” เป็นต้น
นั่นละครับ สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรา ๆ อยู่วงนอกก็จริง แต่รับทราบเรื่องนี้กันไว้บ้างก็ดีเพราะในไทยก็มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย สำหรับวันนี้ขอลาแต่เพียงเท่านี้ก่อน สวัสดีครับ
สรุปเนื้อหาจาก J-Cast