ที่ญี่ปุ่นตอนนี้เขาก็เริ่มจะฉีดเข็ม 3 กันแล้ว ซึ่งก็มีวัคซีนโควิดของ Moderna ด้วย ว่ากันว่าชื่อของบริษัท Moderna คนญี่ปุ่นก็เพิ่งมารู้จักจากวัคซีนโควิดนี่หละ!!! ในคราวนี้ผู้เขียนขอนำเสนอเนื้อหาจากคำให้สัมภาษณ์ของ พญ.ดร.รามิ ซูซูกิ (鈴木蘭美) ประธานบริษัท Moderna Japan ดังต่อไปนี้ครับ
กลไกและ “ข้อดี” ของวัคซีน mRNA
วัคซีน mRNA นั้น คือการให้ไขมันที่เรียกว่า LNP (อนุภาคนาโนที่เป็นไลปิด (ไขมัน)) มาห่อหุ้ม mRNA ซึ่งเปรียบเป็นเป็น “สูตรผสม” วิธีสร้างโปรตีนหนามของไวรัสโควิด เซลล์ในร่างมนุษย์นั้นฉลาด เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปแล้ววัคซีนเข้าสู่ข้างในเซลล์แล้ว มันก็จะใช้ mRNA ที่จับเข้ามา แล้วผลิตโปรตีนหนามเอง แล้วเซลล์ภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะตรวจพบโปรตีนหนาม แล้วระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงาน ซึ่งประธานฯ Moderna Japan กล่าวว่า มันอาจเรียกได้ว่าเป็นเหมือน “การสวมแมสก์ในร่างกายมนุษย์”
“ข้อดี” ของ วัคซีน mRNA นั้นอยู่ที่การประดิษฐ์ mRNA ว่าจะกำหนดลำดับยีนอย่างไรก็ได้ในเวลาอันสั้น พูดง่ายๆ ก็คือ อาจสร้าง mRNA ให้ใช้รักษาโรคอะไรก็ได้ตามต้องการ จนอาจถึงขั้น “ประดิษฐ์วัคซีนโรคมะเร็งสำหรับเฉพาะตัวบุคคลนั้นๆ” ก็ยังได้ (ซึ่งก็กำลังพัฒนาอยู่โดยทำงานร่วมกับบริษัท Merck ผู้ผลิตยาต้านโควิด “โมลนูพิราเวียร์” นั้นไงครับ—ผู้เขียน) โดยเทียบลำดับยีนระหว่าง “เซลล์ปกติของบุคคลนั้นๆ” กับ “เซลล์มะเร็ง” แล้วประดิษฐ์เอา “ส่วนที่ต่าง” ทำเป็นวัคซีนฉีดเข้าไป!!!
ฉีดวัคซีนปีละครั้ง ป้องกันได้ทุกโรค
ปัจจุบัน Moderna กำลังพัฒนา “วัคซีนรวมมิตร” สำหรับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ได้วัคซีนที่ “ฉีดตัวเดียวป้องกันได้ทุกโรค” ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสอาร์เอสวี เรียกว่าไม่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่บ้าง โควิดบ้าง หลายๆ ขนานให้เสียเวลาอีกต่อไป!
แน่นอน ดร.ซูซูกิยังบอกว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 3 “อันทรงพลัง” นั้น เชื่อว่าจะ “สามารถมีส่วนช่วยเหลือคนจำนวนมากได้” และการฉีดวัคซีน “สูตรไขว้” นั้นก็มีตัวอย่างของจริง “เป็นที่ยืนยัน” ในประเทศต่างๆ อย่างสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แล้วว่า มีประสิทธิผลต่อความรุนแรงของการติดเชื้อ อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาล อัตราการเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี การจะสื่อสารถึงเรื่อง “ความปลอดภัยของวัคซีน” แก่บุคคล ครอบครัว ชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องมี “หลักฐานโลกแห่งความจริง (real world evidence)” ซึ่งจะต้องสร้างตรงนี้ขึ้นมา การสร้างตรงนี้ขึ้นมาให้ได้นั้น จะต้องมี “กลไก” ในการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อรวมรวมข้อมูลจากหลายๆ คน หลายๆ กรณี ให้รู้กันในวงกว้าง (กว่าแค่ผู้ที่ได้รับยาหรือวัคซีน) ว่า “ยา (วัคซีน) นี้ได้ผล” ซึ่งการจะวัดว่า วัคซีนนี้ได้ผล ก็จำเป็นต้องหาข้อมูลที่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน เช่น ผลกระทบทางการเงินจากภาวะ Long Covid (เช่นกลายเป็นคนสุขภาพแย่ไม่สามารถทำงานได้) หรือค่าใช้จ่ายในการรักษากว่าจะหายจากโควิด เพื่อจะพิสูจน์ว่า การฉีดวัคซีนจะเป็นผลดีกว่าในทางเศรษฐกิจ (เช่น ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือช่วยให้คนติดไม่หนักและไม่ต้องเจอภาวะ Long Covid)
ครับ ไม่ว่าเทคโนโลยีการแพทย์จะก้าวไกลแค่ไหน ใดๆ ก็ “โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน” นะครับ สวัสดีครับ
สรุปเนื้อหาจาก Yahoo! Japan