เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายท่านคงกำลังติดตามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 กันอยู่ใช่ไหมครับ ตอนที่เราได้เห็นนักกีฬาทีมชาติไทยขึ้นรับเหรียญรางวัล ไม่ว่าจะเป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน หรือเหรียญทองแดง มันก็คงเป็นช่วงเวลาที่ทั้งตัวนักกีฬาเองและคนไทยทั้งประเทศต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจไปพร้อมกันๆ แต่เพื่อนๆ รู้ไหมครับว่าเหรียญรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่บรรดานักกีฬาชาติต่างๆ จะได้รับจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ ผลิตขึ้นมาด้วยกระบวนการใด และใช้อะไรเป็นวัตถุดิบในการผลิต วันนี้เราจะไปหาคำตอบนั้นกันครับ
เหรียญที่ผลิตขึ้นมาด้วยกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
เหรียญรางวัลที่จะมอบให้กับนักกีฬาที่คว้าชัยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในครั้งนี้ ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการรีไซเคิลภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “เหรียญรางวัลจากเหมืองกองขยะอิเล็กทรอนิกส์” โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในครั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2017 จนถึงเดือนมีนาคม 2019 ด้วยวิธีการรวบรวมซากเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้งานแล้ว จากนั้นก็ส่งมอบให้กับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ ดำเนินการแกะแยกชิ้นส่วนเพื่อคัดเลือกเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะ จากนั้นก็นำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเหรียญรางวัลที่จะมอบให้กับนักกีฬาต่อไป
เนื่องจากโครงการเหรียญรางวัลจากเหมืองกองขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทต่างๆ รวมทั้งเหล่าบรรดานักกีฬา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และประชาชนจำนวนมาก จึงทำให้โครงการดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่นและประสบความเร็จเป็นอย่างดี โดยสามารถรวบรวมโลหะที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเหรียญรางวัลทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง รวมทั้งหมดจำนวน 5,000 เหรียญ ได้ทันตามกำหนดระยะเวลาของโครงการ
โดยสรุปแล้ว หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถรวบรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กได้ถึง 78,985 ตัน บริษัท NTT docomo (บริษัทค่ายโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่น) สามารถรวบรวมโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้งานแล้วได้ถึง 6,210,000 เครื่อง และทั้งหมดสามารถสกัดเป็นทองได้ประมาณ 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม
อยากผลักดันให้มีโครงการเช่นนี้ต่อไป
คุโรดะ ทาเคชิ ประธานบริษัท ReNet Japan หนึ่งในบริษัทที่รับหน้าที่เป็นแม่งานในการดำเนินโครงการเหรียญรางวัลจากเหมืองกองขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะจัดโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกครั้งต่อๆ ไป ดังนั้น ในปี 2019 ที่ผ่านมา คุโรดะ จึงตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2024 เพื่อนำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของประเทศฝรั่งเศส และเนื่องจากปัจจุบันประเทศในทวีปยุโรปกำลังตระหนักและให้ความสนใจเกี่ยวกับการรีไซเคิลซากขยะต่างๆ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงทำให้โครงการที่คุโรดะนำเสนอนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
คุโรดะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จของชาวญี่ปุ่นที่สามารถรีไซเคิลซากขยะอิเล็กทรอนิกส์จนกลายเป็นเหรียญรางวัลที่สง่างามในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในครั้งนี้ จะต้องกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนทั่วโลกอย่างแน่นอน”
คอนเซ็ปต์ของการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิก
เหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะของแสงสว่างที่ส่องประกายราวกับกำลังเจียระไนหินแร่ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการขัดเกลาฝีมือของนักกีฬา เกียรติและศักดิ์ศรีของนักกีฬา รวมถึงเหล่าผู้คนที่คอยให้กำลังใจนักกีฬาอยู่รอบๆ และยังเป็นแสงสว่างที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าด้วยกันอีกด้วย นอกจากนี้ ยังแฝงความปรารถนาที่อยากให้ผู้คนทั่วโลกร่วมกันยกย่องเชิดชูเหล่าบรรดานักกีฬาที่ต่อสู้กันอย่างเหน็ดเหนื่อยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้

ด้านหน้าของเหรียญสลักรูปเทพีไนกี (เทพีแห่งชัยชนะตามความเชื่อในตำนานเทพกรีกโบราณ) ซึ่งยืนอยู่ในสนามกีฬา Panathenaic Stadium (สนามกีฬาของประเทศกรีซที่ใช้จัดโอลิมปิกครั้งแรก) รูปห้าห่วงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และคำว่า Olympic Tokyo 2020 ซึ่งเป็นชื่อเรียกทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้เอาไว้ด้วย เพราะตามกฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้กำหนดให้ต้องมีรูปเทพีไนกี รูปสัญลักษณ์ห้าห่วง และชื่อเรียกทางการของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนั้นๆ ปรากฏอยู่บนเหรียญรางวัลด้วยนั่นเอง

ส่วนด้านหลังของเหรียญรางวัลเป็นผลงานการออกแบบของคุณคะวะนิชิ จุนอิจิ ซึ่งเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกจากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดการออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้น
ลวดลายสายคล้องและกล่องเก็บเหรียญรางวัลโอลิมปิก
ลวดลายบนสายคล้องเหรียญรางวัลโอลิมปิกซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งการยกย่องเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีของนักกีฬานั้น มีต้นแบบมาจากตราสัญลักษณ์ของโอลิมปิก โตเกียว 2020 ซึ่งมีชื่อเรียกว่าคุมิอิจิมัตสึมง (組市松紋) และยังถูกตกแต่งด้วยสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020
นอกจากนี้ ตัวสายคล้องเหรียญยังได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้ลำดับของเหรียญรางวัลได้ด้วยการใช้มือสัมผัสรอยนูนที่ทำไว้บนสายคล้องเหรียญ โดยเหรียญทองจะมี 1 รอยนูน เหรียญเงินจะมี 2 รอยนูน และ เหรียญทองแดงจะมี 3 รอยนูน
สำหรับกล่องเก็บเหรียญรางวัลโอลิมปิกนั้น ผลิตขึ้นมาจากไม้ต้นแอชของประเทศญี่ปุ่น และย้อมด้วยสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีแห่งท้องฟ้าและทะเลที่ชาวญี่ปุ่นคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผ่านการออกแบบและประกอบอย่างประณีตด้วยเทคนิคขั้นสูงของช่างไม้ชาวญี่ปุ่น ส่วนฝาปิดจะเป็นระบบแม่เหล็กจึงสามารถปิดกับตัวกล่องได้อย่างแนบสนิท นอกจากนี้ ตัวกล่องยังถูกออกแบบมาให้สามารถใช้เป็นฐานตั้งโชว์เหรียญรางวัลได้ด้วย
สรุปเนื้อหาจาก : news.yahoo(Recycle), news.yahoo(Kuroda Takeshi) และ olympics