เมื่อข้อบังคับ “ห้ามขายเหล้าเบียร์ในร้านอาหาร” ทำเอา “โรงเหล้าสาเก” เซซวน!

ตอนนี้หนึ่งในมาตรการการยับยั้งการระบาดของโควิดคือการ “ห้ามขายเหล้าเบียร์ให้นั่งดื่มในร้านอาหาร” เพราะเกรงว่าจะเป็นการชุมนุมมั่วสุมกันเกินไป นั่งยาวเกินไป ซึ่งในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ระบาดหนักๆ ของไทยก็เป็นไปแล้วอย่างกรุงเทพฯ นครปฐม เชียงใหม่ ที่ญี่ปุ่นก็เป็นไปแล้วเช่นกันตาม “การประกาศภาวะฉุกเฉิน” ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 เมษายนเป็นต้นมา

บริษัท Liquor Innovation ได้จัดทำแบบสอบถามออนไลน์ในหัวข้อ “ผลกระทบจากการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีต่อโรงเหล้าสาเก” โดยเปิดให้โรงเหล้าสาเก โรงผลิตไวน์ โรงงานเบียร์ที่ทำการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์ KURAND ของทางบริษัทฯ ตอบแบบสอบถามตั้งแต่วันที่ 26 ถึงวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ 68 ราย (ส่วนใหญ่ 82.4% เป็นโรงเหล้าสาเก เหล้าผลไม้ เหล้าบ๊วย (อุเมะชุ) โชจู เป็นต้น)

ผลการตอบแบบสอบถามมีดังนี้

(1): ประมาณ 89% ตอบว่า “(การประกาศภาวะฉุกเฉิน) มีผลกระทบต่อยอดขาย” เนื่องจากโรงเหล้าบางแห่งตอบว่า ครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมดมาจากการส่งของไปตามร้านอาหาร (และถึงต่อให้ไม่มีคำสั่งห้ามขายเหล้า แต่ในภาวะเช่นนี้คนเที่ยวน้อยลง ย่อมทำให้ยอดขายเหล้าเบียร์ตามร้านอาหารน้อยลง ก็กระทบกับโรงเหล้าสาเกไปด้วย)

คำถาม: ท่านคิดว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินจะส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือไม่?
มีผลกระทบอย่างมาก 27.9% มีผลกระทบ 61.8% ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 1.5% ยังอ่านไม่ออกว่าจะไปทางใด 8.8%

(2): ประมาณ 59% ตอบว่า “ยอดขายจะลดลงมากกว่า 30%” จากคำสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ในร้านอาหาร

คำถาม: สำหรับผู้ที่ตอบว่า “มีผลกระทบอย่างมาก” และ “มีผลกระทบ” ท่านคิดว่ายอดขายจะลดลงร้อยละเท่าใด?
ร้อยละ 10-20 41.0%, ร้อยละ 30-40 39.3%, ร้อยละ 50-60 14.8%, ร้อยละ 70% ขึ้นไป 4.9%

(3) ประมาณ 85% ตอบว่า “ปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีปกติ” เนื่องจากภาวะวิกฤติจากโควิดไม่น่าจะหายไปง่ายๆ และเมื่อของขายได้น้อยลงก็ต้องลดลงไม่อย่างนั้นก็ไม่มีที่เก็บ

คำถาม: ปริมาณการผลิตในปีนี้ลดลงหรือไม่เมื่อเทียบกับปีปกติ?
ลดลงอย่างมาก (เหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง) 16.2% ลดลงเล็กน้อย 69.1% ไม่เปลี่ยนแปลง 5.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 5.9% เพิ่มขึ้นอย่างมาก (มากกว่า 1.5 เท่า) 2.9%

(4) ประมาณ 85% ตอบว่า “มีการเปลี่ยนแปลง (เช่นลดปริมาณ หรือเปลี่ยนชนิดสุราที่ผลิต) ในการผลิตเหล้าในปีที่ผ่านมา”

คำถาม: ในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในการผลิตสุราหรือไม่?
มีการเปลี่ยนแปลง 85.3%  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง 14.7%

ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ KURAND จึงต้องการมีส่วนช่วยผู้ประกอบการ (ผู้ผลิตสุรา ไวน์และเบียร์) ในการวางแผนผลิตภัณฑ์และขยายช่องทางการขาย โดยมุ่งสร้างช่องทางการขายให้ผู้บริโภคในประเทศได้เข้าถึงสินค้า และมองไปถึงผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย

ในญี่ปุ่นนั้นมีผู้ผลิตสุรา ไวน์ เบียร์ รายย่อยมากมายซึ่งก็ต้องช่วยๆ กันพยุงให้อยู่รอดในภาวะเช่นนี้ สำหรับเมืองไทยดูจะไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่เพราะการผลิตเหล้าเบียร์เมืองไทยก็ผูกขาดกันเพียงแค่เจ้าใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้า ภาวะล็อคดาวน์แค่นี้คงไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วงหรอกกระมังครับ แต่ว่าร้านอาหารที่เน้นกลุ่มสังสรรค์ เน้นอาหารกับแกล้ม น่าจะมีผลกระทบต่อยอดขายเพราะการที่คนเรากินเหล้ากินเบียร์มากหลายคนก็กินกับแกล้มจุไปด้วย แต่พอไม่มีเหล้าเบียร์กินก็คงกินแค่พออิ่ม ร้านอาหารก็จะยอดขายลดลง พูดแล้วก็นึกถึงร้านอาหารญี่ปุ่นแถวบ้านจังเลยครับ ถ้าได้เบียร์เย็นๆ สักขวด จะลุยบุฟเฟต์แซลมอนเลย 399 บาทถึงไหนถึงกัน ซาชิมิแซลมอนเอย ซูซิแซลมอนอะบุริเลย แซลมอนชุบแป้งทอดเลย ของอร่อย (และอ้วน) ทั้งนั้น มาวันนี้ก็ได้แค่สั่งนิกิริซูชิสักห้าคำ สั่งชาร้อนหนึ่งกานั่งรินดื่มไป เฮ่อ รอวันหน้าฟ้าใหม่ก่อนละกันนะครับ

สรุปเนื้อหาจาก prtimes

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save