ถึงแม้ว่าการประมูลมากุโระหรือปลาทูน่ายักษ์ครั้งแรกของปี 2021 ในวันที่ 5 มกราคม จะไม่คึกคักเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ เนื่องจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัญหาปลาขนาดใหญ่พิเศษหาได้ยากขึ้น โดยปีนี้มีบันทึกสถิติการชนะประมูลปลาทูน่าพันธุ์คุโรมากุโระหรือโอมะมากุโระน้ำหนัก 208.4 กิโลกรัมในราคาสูงสุดตัวละ 20,840,000 เยน หรือคิดเป็นกิโลกรัมละ 10,000 เยน ในขณะที่สถิติปี 2020 ปลาทูน่าน้ำหนัก 276 กิโลกรัม ชนะประมูลด้วยราคาสูงสุดที่ 193,200,000 เยน หรือคิดเป็นราคากิโลกรัมละ 70,000 เยน
นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกสถิติราคาประมูลที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ไว้เมื่อปี 2019 เป็นปลาทูน่าน้ำหนัก 278 กิโลกรัม สนนราคาสูงสุดตัวละ 333,600,000 เยน หรือคิดเป็นราคากิโลกรัมละ 120,000 เยน ชนะการประมูลโดย “ซูชิซันไม” (すしざんまい) แบรนด์ซูชิแฟรนไชส์ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเลยว่าราคาจบประมูลปลาทูน่าของปีนี้ไม่ฮือฮาเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขการประมูลในอดีต อีกทั้ง ยังเป็นช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2021 เป็นเวลา 1 เดือน จึงทำให้สื่อโทรทัศน์ต่าง ๆ ไม่ได้พูดถึงการประมูลปลาครั้งแรกของปีเท่าไหร่นัก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องที่นี่)
ชาวประมงได้ส่วนแบ่งจากการประมูลเท่าไหร่?
เกริ่นถึงราคาจบประมูลปลาทูน่ายักษ์ครั้งแรกของปีกันพอสมควรแล้ว เชื่อว่าเพื่อน ๆ อาจเกิดข้อสงสัยขึ้นมาแล้วว่า ชาวประมงที่ตกปลาตัวนั้น ๆ จะได้รับส่วนแบ่งจากการประมูลเป็นเงินเท่าไหร่? ผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานไหนจะได้รับส่วนแบ่งทางการขายบ้าง? และได้รับกี่เปอร์เซ็นต์? ซึ่งเราก็ไม่พลาดที่จะนำคำตอบเหล่านั้นมาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ!
ย้อนกลับไปในปี 2017 คุณคิมูระ คิโยชิ ผู้บริหาร “ซูชิซันไม” (すしざんまい) แบรนด์ซูชิแฟรนไชส์ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ชนะการประมูลปลาทูน่าครั้งแรกของปี ปลาทูน่าน้ำหนัก 212 กิโลกรัม ราคาสูงสุดตัวละ 74,200,000 เยน หรือคิดเป็นราคากิโลกรัมละ 35,000 เยน ซึ่งว่ากันว่าเป็นปลาทูน่าปาฏิหาริย์ที่ตกได้ก่อนถึงกำหนดเวลาห้ามจับสัตว์น้ำในช่วง 90 นาทีสุดท้าย
ข่าวการประมูลปลาทูน่าราคา 74 ล้านเยนของคุณคิมูระ คิโยชิเป็นที่จับตามองและถูกพูดถึงในหลายสื่อ เนื่องจากเป็นราคาปลาทูน่าที่สูงมากกว่าครั้งก่อน ๆ โดยปี 2016 ปลาที่ชนะประมูลมีราคาตัวละ 14 ล้านเยนเท่านั้น จนทางสหกรณ์การประมงประจำจังหวัดอาโอโมริต้องออกมาอธิบายเกี่ยวกับการแจกแจงบัญชีการประมูลปลาทูน่าครั้งนั้นด้วยว่า 11% ของจำนวนเงินจบประมูลจะถูกแบ่งส่วนให้พ่อค้ารับส่งสินค้า 5.5%, แบ่งให้สหกรณ์การประมงเมืองโอมะ 4% และแบ่งให้สหกรณ์การประมงประจำจังหวัดอาโอโมริ 1.5% ส่วนที่เหลือ 89% จะเป็นของชาวประมงผู้ที่ตกปลาตัวนั้น ๆ ได้
หากอ้างอิงจากข้อมูลข้างต้นจะสามารถสรุปได้ว่า ปลาทูน่ายักษ์ หรือ โอมะมากุโระ ที่ประมูลครั้งแรกในปี 2021 จบลงด้วยราคาสูงสุดตัวละ 20,840,000 เยน จะถูกแบ่งส่วนการขายให้สหกรณ์การประมงเมืองโอมะ, สหกรณ์การประมงประจำจังหวัดอาโอโมริ และพ่อค้ารับส่งสินค้าเป็นจำนวน 11% โดยชาวประมงผู้ตกปลาได้รับส่วนแบ่ง 89% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 19,000,000 เยน นอกจากนี้ ยังต้องจ่ายภาษีเงินได้ท้องถิ่นเมืองโอมะอีกราว 40% ทำให้ชาวประมงจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากการประมูลเป็นจำนวน 11,400,000 เยนเท่านั้น ในขณะที่ข้อมูลจากปี 2020 พบว่า มีชาวประมงได้รับส่วนแบ่งจากการประมูลปลาทูน่าครั้งแรกเป็นจำนวนเงินมากถึง 100 ล้านเยนเลยทีเดียว
แม้การประมูลปลาทูน่าครั้งแรกของปี 2021 จะสานฝันให้ชาวประมงญี่ปุ่นกลายเป็น “มหาเศรษฐี” เหมือนดั่งปีก่อน ๆ ไม่ได้ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เราก็ขออธิษฐานให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ยังคงฮึดสู้และก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
สรุปเนื้อหาจาก : netafull