“หมู่เกาะเซ็นคาคุ” จะยื้อแย่งกันไปทำไม เพื่ออธิปไตยของญี่ปุ่น หรือเพื่อผลประโยชน์ของชาติใด?

ในการเจรจาระหว่าง นายสุงะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น นายสุงะได้กล่าวว่า “หมู่เกาะเซ็นคาคุ (尖閣諸島 แปลตรงตัวว่า “หมู่เกาะพลับพลาแหลม”) ในจังหวัดโอกินาวา (จีนเรียกว่า เกาะเตียวหยู (釣魚島 แปลตรงตัวว่า “เกาะตกปลา”) ) เป็นดินแดนของญี่ปุ่นอย่างแน่นอน และญี่ปุ่นก็กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในฮ่องกง”

ถ้อยคำของนายสุงะ ณ ตอนนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ “เหลือทน” สำหรับนายหวังอี้ ซึ่งยืนยันว่าหมู่เกาะเตียวหยูเป็นดินแดนของจีน และย้ำว่า (รัฐบาล) ต่างชาติไม่ควรมาแทรกแซงเรื่องของฮ่องกง

ที่ผ่านมาคนใกล้ชิดของนายสุงะแนะนำว่า เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับจีนซึ่งมีความเกี่ยวโยงอย่างยิ่งกับ “เศรษฐกิจ” นายสุงะจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ต้องอีกฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย นโยบายต่างประเทศที่ผ่านมาของนายสุงะที่มีต่อจีนจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

เมื่อครั้งอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังดำรงตำแหน่งอยู่ มีแผนการจะเชิญนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มาเยือนญี่ปุ่น แต่กำหนดการถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ญี่ปุ่น นายสุงะได้กล่าวกับสื่อหลังการประชุมทางโทรศัพท์ระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและจีนเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาว่า “ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้” นี่เป็นเพราะความรุนแรงของข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซ็นคาคุระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จีนในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้นตามการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ นายโมเตงิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมการประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอินเดีย ที่โตเกียวเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ว่าด้วยการเสริมกำลังทางทะเลของกองทัพจีน พวกเขาได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายการเสริมสร้างความร่วมมือต่อกัน

นายโมเตงิ โทชิมิตสึ

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของฝ่ายญี่ปุ่นและจีนที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายหวังอี้ชี้ให้เห็นว่า แนวคิด “เปิดเสรีอินโด-แปซิฟิก” ที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดียและออสเตรเลียส่งเสริมนั้น เปรียบได้กับแนวคิดกับนาโตที่มองว่าจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามทางทหาร ทั้งยังได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดนี้ว่าเป็น “นาโตเวอร์ชั่นอินโด- แปซิฟิก” ซึ่งเป็นอันตรายต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

นายหวังอี้

แต่ในอีกด้าน รัฐบาลญี่ปุ่นยังแสดงความยืดหยุ่นในการรับมือกับจีน ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังคือการที่จีนเป็น “คู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น” และไม่มีทางอื่นนอกจาก “หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและอาศัยการเจรจาหารือ” นายสุงะยืนยันกับนายสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-จีนเมื่อวันที่ 25 กันยายนแล้วว่าจะมีการขยายผลในความร่วมมือระดับสูง ในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นและจีนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายโมเตงิ และนายหวังอี้ ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แล้วเกิดอะไรขึ้นญี่ปุ่นถึงท่าที่เปลี่ยนไป? หรือกลัวว่าการประนีประนอมกับจีน “มากไป” จะทำให้ “พี่ใหญ่” สหรัฐฯ ขุ่นเคือง?

หมู่เกาะเซ็นคาคุ ที่ว่าเป็นดินแดนของญี่ปุ่นนั้น แท้จริงเป็นเรื่องของอธิปไตยของชาติญี่ปุ่นล้วนๆ หรือมีใคร “มีเอี่ยว” ด้วย

ลองมาทำความเข้าใจเรื่องราวในภาครวมของปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะเซ็นคาคุกันก่อนนะครับ

หมู่เกาะเซ็นคาคุประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ และแนวหินสามแห่ง ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก ชื่อ “หมู่เกาะเซ็นคาคุ” นั้น ถูกตั้งชื่อเมื่อปี พ.ศ. 2443 โดยนายคุโรอิวะ ฮิซาชิ ซึ่งทำงานที่โรงเรียนฝึกหัดครูโอกินาวะ โดยขึ้นต่ออำเภออิชิงากิ จังหวัดโอกินาวา เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะ “อุโอะทสึริจิมะ” (魚釣島 แปลตรงตัวว่า “เกาะตกปลา” ชื่อนี้คุ้นๆ ไหมครับว่าความหมายเหมือนชื่อที่คนจีนเรียก) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนอาศัยอยู่ที่นั่นถึง 250 คนซึ่งทำอาชีพเก็บขนนกอาโฮโดริ (เป็นนกทะเลพันธุ์หนึ่ง ฝรั่งเรียกว่า Short-tailed albatross) ขาย แต่หลังจากปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา เกาะทั้งหลายก็ไม่มีคนอยู่อาศัย

เกาะอุโอะทสึริจิมะ (魚釣島)

หากสาวไปถึงประวัติศาสตร์ในยุคอาณาจักรโบราณ คือยุคก่อนรัฐชาติสมัยใหม่ (อารมณ์เดียวกับอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรโบราณที่เกิดก่อนยุคของแนวคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ คือเกิดก่อนประเทศสยาม เกิดก่อนประเทศไทย) แล้ว หมู่เกาะเซ็นคาคุเคยเป็นสถานที่สำคัญในการค้าขายระหว่างอาณาจักรริวกิว (ซึ่งไม่มีอีกแล้ว ถูกผนวกเป็นจังหวัดโอกินาวะ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น) กับจักรวรรดิหมิงและชิงของจีน (ซึ่งมีมาก่อนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน) ดูเหมือนว่า “เกาะตกปลา” ในสมัยนั้น ฝ่ายอาณาจักรริวกิวเรียกว่า “ยูคอน (หรือโยคอน)” และ ส่วนฝ่ายจีนเรียกว่า “เตียวหยูไถ” (釣魚台) หรือ “เตียวหยูอวี้” (釣魚嶼) ซึ่ง “เตียวหยู” ก็แปลว่า “ตกปลา” นั่นแล

ต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงก็คือ ก่อนจะมาถึงยุคเมจิ ที่คนญี่ปุ่นได้มารู้จักและ “ตั้งชื่อ” ให้หมู่เกาะดังกล่าวนั้น ในโลกตะวันออกยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “อธิปไตยเหนือพรมแดน” ตาม “กฎหมายระหว่างประเทศ” (ทำนองเดียวกับสยามในยุคที่มี “ประเทศราช” แต่ยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “อธิปไตยพรมแดน” จนกระทั่งแนวคิดเรื่องนี้จากตะวันตกเข้ามาและกลายเป็นเครื่องผลักดันให้ไทยเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีอาณาบริเวณแน่นอน จนนำไปสู่การผนวกเอาดินแดนที่เคยเป็น “ประเทศราช” มาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย) แต่พอมาเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ ก่อนที่ญี่ปุ่นจะผนวกเอาหมู่เกาะดังกล่าวเข้ามาใน “ดินแดน” ของตน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจแล้วเป็นที่ยืนยันว่าเป็น “ดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ” ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงอ้างว่าดินแดนของหมู่เกาะเซ็นคาคุถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายระหว่างประเทศ

แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เมื่อญี่ปุ่นยุคเมจิรบชนะจีน (“จีน” ที่ไม่ใช่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” แต่หมายถึงจักรวรรดิต้าชิง 大清国) ใน “สงครามนิชชิน” (日清戦争) ซึ่งผลของมันนำไปสู่ “สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ” (下関条約) ซึ่งลงนามในปี พ.ศ. 2438 ภายใต้สนธิสัญญานี้ จักรวรรดิต้าชิงจะต้องโอนเกาะไต้หวัน (ซึ่งเป็นเพียงเกาะ ไม่ได้เป็นประเทศ) หมู่เกาะเผิงฮู่ (澎湖諸島) และดินแดนอื่นๆ ให้มาเป็นของญี่ปุ่น แต่ต่อมา ไต้หวัน (ซึ่งกลายเป็นประเทศไม่เต็มตัวเพราะจีนแผ่นดินใหญ่ไม่อยาก และไม่ยอมให้เป็น) กับจีน (“จีน” ที่เป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งเกิดทีหลังการสิ้นสุดราชวงศ์ชิง) มาอ้างว่า สนธิสัญญาดังกล่าว “ไม่เสมอภาค” และหมู่เกาะเซ็นคาคุ ถูกยึดเอาไป “อย่างไม่เป็นธรรม” พร้อมๆ กับไต้หวัน

หลังจากนั้น ยังมีเรื่องของ “สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก” ซึ่งลงนามในปี พ.ศ. 2494 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้สนธิสัญญานี้ ญี่ปุ่นจะต้องยอมสละสิทธิ์เหนืออาณานิคมทั้งหลาย เช่นเกาหลี เกาะไต้หวัน และหมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ทั้งหลายรวมถึงหมู่เกาะเซ็นคาคุ จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารของสหรัฐอเมริกา โดยถือว่าอำนาจอธิปไตย (เหนือหมู่เกาะดังกล่าว) เป็นของญี่ปุ่น ซึ่งอำนาจการบริหารดังกล่าวสหรัฐอเมริกาได้ส่งมอบคืนให้แก่ญี่ปุ่นภายใต้ “ข้อตกลงการส่งคืนโอกินาวา” (沖縄返還協定) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2515

แต่ไต้หวันก็ยังยืนกรานว่าควรส่งคืน (หมู่เกาะเซ็นคาคุ) แก่ไต้หวัน เพราะหมู่เกาะดังกล่าวอยู่ในสิทธิ์ที่ไต้หวันเคยสละเมื่อกาลก่อนนั้น

ญี่ปุ่นมีข้อโต้แย้งอย่างไร?

นายสุงะ โยชิฮิเดะ

ข้อแรก การเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาชิโมโนเซกิเริ่มมีขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2438 ในขณะที่การประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซ็นคาคุมีขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2438 และคำว่า “ไต้หวัน” ในสัญญาดังกล่าว ไม่ได้รวมถึงหมู่เกาะเซ็นคาคุตั้งแต่แรก

ในระหว่างการเจรจา ฝ่ายจักรวรรดิต้าชิงไม่ได้ประท้วงเรื่องการที่ญี่ปุ่นถือเอาหมู่เกาะเซ็นคาคุเป็นดินแดนของตน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ฝ่ายต้าชิงไม่ได้ถือว่าการที่ญี่ปุ่นถือเอาหมู่เกาะเซ็นคาคุเป็นดินแดนของตนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

ข้อสอง เกี่ยวกับ “สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก” ไม่มีชาติพันธมิตรรายใหญ่ประท้วงว่าสนธิสัญญาดังกล่าวทำให้หมู่เกาะดังกล่าวอยู่ภายใต้การบริหารของสหรัฐฯ เนื่องจากมี “หลักฐานตามธรรมชาติ” ว่าหมู่เกาะดังกล่าวอยู่ภายใต้อธิปไตยของญี่ปุ่น

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังกล่าวว่าเป็นการยากที่จีนจะอ้างว่า การที่หมู่เกาะดังกล่าวมีอยู่ในแผนที่ของราชวงศ์หมิง เป็นเครื่องหนุนว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะดังกล่าวในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

ทำไมไต้หวันกับจีนถึงอยากได้หมู่เกาะนี้นัก?

ในปี พ.ศ. 2511 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเซียและตะวันออกไกล (ECAFE) ได้ทำการสำรวจพื้นทะเลรอบหมู่เกาะเซ็นคาคุ “รายงานโครงสร้างทางธรณีวิทยาของทะเลจีนตะวันออกและทะเลเหลือง” ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของการมีอยู่ของน้ำมันในพื้นที่นี้ “ก้นทะเลตื้นระหว่างไต้หวันและญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะเป็นพื้นที่ผลิตน้ำมันระดับโลก” (ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงน้ำมันดิบเท่านั้น แต่มีการค้นพบแร่โลหะหายากในน่านน้ำโดยรอบและมีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีโลหะหายากอยู่รอบๆ หมู่เกาะ)

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เกาะทั้งสามของหมู่เกาะเซนคาคุ ได้แก่เกาะอุโอะทสึริ เกาะคิตะโกะ (北小島) เกาะมินามิโกะ (南小島) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ช่วงราวปี พ.ศ. 2513 อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ซื้อทั้งสามเกาะนี้มากในราคาสองพันห้าสิบล้านเยน ดังนั้นหมู่เกาะเซนกากุถือเป็นสมบัติของชาติ ชนวนของการซื้อมาเป็นสมบัติของชาติคือ ใน ปี พ.ศ. 2553 มีเรือประมงจีนที่บุกเข้ามาในน่านน้ำชนกับเรือลาดตระเวนของหน่วยความมั่นคงทางทะเล นายอิชิฮาระ ชินทาโร ผู้ว่าการกรุงโตเกียวจึงได้ประกาศแผนการที่จะซื้อเกาะนี้ในปี พ.ศ. 2555

แต่ต่อมาจีนก็เพิ่มแรงกดดันด้วยการบุกคุกทั้งทางทะเลและทางอากาศมากขึ้นๆ เรือที่บุกรุกบางทียังติดอาวุธและปัญหาข้อพิพาทของหมู่เกาะเซ็นคาคุก็ยิ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนถึงทุกวันนี้

อ่านมาถึงตรงนี้ คิดว่าญี่ปุ่นยึดมั่นยืนกรานว่าหมู่เกาะเซ็นคาคุเป็นของตนเพราะอะไร? ไต้หวันกับจีนจะอยากได้มันไปเพื่ออะไร? เรื่องนี้มีอเมริกาอยู่ข้างหลังหรือไม่ อย่างไร? ศักดิ์ศรี? หน้าตาของประเทศมหาอำนาจ? อธิปไตยของชาติ? ผลประโยชน์ทางการค้า? น้ำมัน? เรื่องราวของความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้น มันก็วนเวียนอยู่แค่คีย์เวิร์ดไม่กี่คำดังที่ผู้เขียนยกมานี้ มันเป็นเช่นนั้นแล ฉะนั้นตราบใดที่ความอยากได้ยังไม่หยุด ก็ยังคงทะเลาะกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้แล

สรุปเนื้อหาจาก rfi และ honcierge
ภาพ ja.wikipedia, ja.wikipedia2, zh.wikipedia
ผู้เขียน TU KeiZai-man

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save