หน่วยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลและโลก ประเทศญี่ปุ่น หรือ JAMSTEC เปิดเผยข้อมูลด้าน “มลพิษทางทะเล” หลังส่งทีมวิจัยออกสำรวจคาบสมุทรไกลฝั่ง 5 แห่งในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. เมื่อสองปีที่แล้ว
ผลการสำรวจพบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีขยะพลาสติกจำนวนมากอยู่ใต้คาบสมุทรความลึกราว 5,700 เมตร อยู่ห่างจากฝั่งในระยะทาง 520 กิโลเมตร ซึ่งได้แก่เศษพลาสติกบรรจุสเต็กแฮมเบิร์กที่ผลิตในปีโชวะที่ 59 (ค.ศ. 1984) และหลอดยาสีฟัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในคาบสมุทรไกลจากฝั่งระยะทาง 480 กิโลเมตร ก็พบขยะพลาสติกที่ถูกใช้แล้วเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ โดยใน 1 ตารางกิโลเมตรจะพบขยะพลาสติกราว 7,000 ชิ้นเลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ที่บริเวณใต้ทะเลใกล้ชายฝั่งราว 20 กิโลเมตร ที่ความลึกราว 1,400 เมตร ก็พบขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยใน 1 ตารางกิโลเมตรจะมีขยะพลาสติกหลับใหลอยู่ใต้ทะเลมากถึง 1,950 ชิ้น ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณขยะพลาสติกที่อยู่ไกลจากฝั่งออกไป
คุณนากาจิม่า เรียวตะ หัวหน้าทีมวิจัยจาก JAMSTEC กล่าวว่า แม้ในอดีตจะมีการสรุปผลวิจัยไว้ว่า ยิ่งไกลจากฝั่งเท่าไหร่ ขยะพลาสติกจะยิ่งมีจำนวนน้อยลง แต่ในการสำรวจครั้งนี้พิสูจน์แล้วว่า ที่ก้นทะเลลึกไกลฝั่งราว 500 กิโลเมตรกลายเป็น “ที่ทิ้งขยะ” ไปเสียแล้ว โดยคาดการณ์ว่าเศษขยะอาจพันเกี่ยวกับพืชทะเลและถูกกระแสน้ำพัดลงไปยังทะเลลึก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะขุดรวบรวมเศษขยะที่ถูกฝั่งอยู่ใต้ทะเลลึกเหล่านั้นออกมา แต่สิ่งที่สามารถป้องกันได้ดีที่สุดคือการทิ้งขยะให้เป็นที่เพื่อไม่ให้เศษขยะถูกพัดลงท้องทะเลต่อไป
สรุปเนื้อหาจาก: nhk