ผลสำรวจความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นที่มีต่อ Black Company

สวัสดีครับ เมื่อสักกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีข่าวพนักงานสาวลาออกจากธนาคารแล้วโพสต์ระบายถึงสาเหตุบนโซเชียลมีเดีย ทำเอาพนักงานธนาคารต่างออกมาระบายความอัดอั้นตันใจในที่ทำงานกันมากมายจนกลายเป็นข่าวดัง วันนี้เลยเอาผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแบล็คคอมพานีของชาวญี่ปุ่นมาให้อ่านกันครับ

“แบล็คคอมพานี (Black Company หรือ ブラック企業)” หมายถึง บริษัทหรือองค์กรที่ใช้งานพนักงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีกฎหยุมหยิมเข้มงวดเกินไป หรืออาจมีการล่วงละเมิดพนักงานทางวาจา ใช้อำนาจข่มขู่ ล่วงละเมิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกายครับ

การสำรวจจัดทำขึ้นโดยสมาคมสำรวจแรงงานแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยสำรวจด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างชายและหญิงในวัยทำงานตั้งแต่ 20-49 ปี จำนวน 516 คน

ผลการสำรวจสรุปได้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 1 ใน 3 คิดว่าองค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่เป็นแบล็คคอมพานี ในจำนวนนี้เป็นคนช่วงวัย 20-29 และ 30-39 ปีในอัตราส่วนใกล้กัน และคิดว่าสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นแบล็คคอมพานีคือ “การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” (หรือที่เรียกกันว่า “โอฟรี” นั่นแหละครับ) และ “การถูกล่วงละเมิด”

คนจำนวน 1 ใน 3 คิดว่าตัวเองทำงานอยู่กับองค์กรที่เป็นแบล็คคอมพานี

คำถามแรกคือ “คิดว่าองค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่เป็นแบล็คคอมพานีหรือไม่” ผลการสำรวจระบุว่า คนจำนวน 31.2% คิดว่า “ใช่” อีก 48.6% คิดว่า “ไม่ใช่” และ 20.2% ตอบว่า “ไม่ทราบ”

เมื่อรวมจำนวนคนที่ตอบคำตอบว่า “ใช่” และ “ไม่ทราบ” รวมกันเป็น 51.4% ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มนี้ไม่ปฏิเสธว่าพวกเขากำลังถูกองค์กรเอาเปรียบ และเมื่อเทียบกับผลสำรวจแบบเดียวกันในปี 2014 มีคนที่คิดว่า องค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่เป็นแบล็คคอมพานีเพียง 26.9% นั่นคือในช่วงระยะเวลาห่างกัน 7 ปี มีคนที่รู้สึกว่าถูกองค์กรเอาเปรียบเพิ่มขึ้นมาก

กลุ่มคนอายุน้อยคิดว่าบริษัทตัวเองเป็นแบล็คคอมพานี

จากคำถามแรก กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “องค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่เป็นแบล็คคอมพานี” เป็นคนช่วงวัย 20-29 และ 30-39 ปีในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน คือ 33.9% และ 33.5% ตามลำดับ ส่วนคนวัย 40-49 ปีเห็นด้วยเป็นจำนวน 25.9%

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า “ไม่คิดว่าองค์กรของตัวเองเป็นแบล็คคอมพานี” นั้น เป็นคนช่วงวัย 20-29 ปีที่ 48.3% คนช่วงวัย 30-39 ปีที่ 41.5% และคนวัย 40-49 ปีที่ 56.6%

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนอายุน้อยมีแนวโน้มคิดว่าถูกองค์กรและบุคคลภายในเอาเปรียบหรือล่วงละเมิดมากกว่ากลุ่มคนอายุมาก อาจเป็นเพราะเพิ่งเข้าทำงานในองค์กรไม่นานและตำแหน่งต่ำกว่า เทียบกับกลุ่มคนอายุ 40-49 ปีที่เข้าทำงานมานาน มีตำแหน่งสูงพอที่จะปรับเปลี่ยนโยบายและสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานมากกว่า

ปัญหาหลักของแบล็คคอมพานีคือ “ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” และ “การถูกล่วงละเมิด”

คำถามถัดมาคือ “คิดว่าอะไรคือสิ่งบ่งชี้ว่าองค์กรเป็นแบล็คคอมพานี” จากคำตอบ 5 อันดับแรก อันดับหนึ่งคือ “การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง” ที่ 36.9%  รองลงมาคือ “การถูกล่วงละเมิด” ที่ 17.2% อันดับที่ 3 “ชั่วโมงทำงานที่ยาวนานเกินไป” 15.8%  อันดับที่ 4 “การทำงานล่วงเวลามากเกินไป” 13.7% และอันดับที่ 5 “การให้ค่าแรงต่ำเกินไป” 10.8%

ดูเหมือนว่ากลุ่มคนทำงานไม่ปฏิเสธการทำงานล่วงเวลา แต่พวกเขาต้องการค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาที่เหมาะสม และชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาที่ไม่มากเกินไปจนมีผลต่อร่างกาย จิตใจและสังคมรอบตัว

เมื่อแยกตามประเภทสิ่งบ่งชี้ว่าองค์กรเป็นแบล็คคอมพานี “ปัญหาเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน” รั้งอันดับหนึ่งที่ 69.1% ตามด้วย “ปัญหาการถูกล่วงละเมิด” ที่ 29.6% อันดับที่ 3 คือ “ปัญหาเกี่ยวกับวันหยุดวันลา” 19.5% และอันดับที่ 4 คือ “ปัญหาเกี่ยวกับค่าแรง” 17.7%

สรุปได้ว่า องค์กรที่มีการให้ค่าแรงที่เหมาะสม ไม่มีปัญหาการทำงานล่วงเวลา วันหยุดวันลา และการล่วงละเมิดจึงจะเข้าข่ายเป็นไวท์คอมพานีที่ใครๆ ก็อยากเข้าทำงานด้วย (ดูจะหายากนะครับ)

ตัวอย่างประสบการณ์กับแบล็คคอมพานีจากผู้ตอบแบบสอบถาม

ประสบการณ์ปัญหาชั่วโมงทำงาน

  • ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำทุกวัน
  • นโยบายบริษัทคิดโอทีให้ทุกๆ 30 นาที แต่ถูกบังคับให้ตอกบัตรออกในนาทีที่ 29
  • โดนเจ้านายใช้ให้ทำโอทีโดยไม่จ่ายค่าจ้าง อ้างว่าเพื่อช่วยบริษัท
  • เวลาเข้างาน 8.30 น. แต่ถูกบังคับให้มาทำตั้งแต่ 7.30 น.

ประสบการณ์ปัญหาการถูกล่วงละเมิด

  • ผู้จัดการแอบดูบทสนทนาของพนักงานกับเพื่อนร่วมงานบนโปรแกรมแชทของบริษัท
  • ไปสอบถามฝ่ายบุคคลเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นเงินเดือน กลับถูกบอกให้ไปประจบขอจากหัวหน้า
  • พนักงานสาวๆ ในบริษัทมักโดนมอบหมายให้ดำเนินการประชุมภายในบริษัททั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่

ประสบการณ์ปัญหาวันหยุดวันลา

  • ถึงใช้วันลาหยุดแบบหักเงินเดือนก็ถูกคนรอบข้างมองไม่ดี
  • พอจะใช้วันลาหยุดก็ถูกบังคับให้เป็นวันออกไปทำงานนอกบริษัท
  • ปกติหัวหน้าต้องหยุดพักเสาร์อาทิตย์ แต่กลับหยุดวันธรรมดาแล้วมาทำงานวันเสาร์อาทิตย์แทน

ประสบการณ์ปัญหาเงินเดือนค่าแรง

  • พอติดต่อเรื่องการเกษียณอายุไป ก็ถูกยกเลิกประกันสังคมทันทีเมื่อถึงวันเกษียณอายุ
  • ทั้ง ๆ ที่งานเยอะจนต้องทำล่วงเวลาถึงจะเสร็จ แต่พอทำล่วงเวลากลับถูกลดโบนัส
  • ทำงานโอฟรีทุกวันแถมไม่มีวันหยุด แต่ค่าแรงที่ได้ยังต่ำกว่าค่าแรงเฉลี่ย

ประสบการณ์ปัญหาอื่น ๆ

  • บริษัทแจ้งราชการว่ามีการพักงานพนักงานเพื่อรับผลประโยชน์ทดแทน แต่จริงๆ พนักงานยังถูกสั่งให้มาทำงานตามปกติ
  • ปรากฏชื่อในเอกสารภายในที่ไม่ควรมีการระบุชื่อพนักงานใด ๆ
  • ถ้าบริษัทถูกเสนอชื่อเข้าชิงบริษัทแบล็คคอมพานีจะได้รับเงินเดือนสูงขึ้น

ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็มีปัญหาพนักงานถูกที่ทำงานหรือหัวหน้าเอารัดเอาเปรียบหรืออาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ท่านผู้อ่านละครับ อ่านแล้วคิดว่าหน่วยงานที่ตัวเองทำงานอยู่เป็นแบล็คคอมพานีไหมครับ?

สรุปเนื้อหาจาก prtimes

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save