ใครที่ไม่ชอบชาเพราะรสชาติไม่น่าสนใจอาจต้องคิดใหม่ เพราะมหาวิทยาลัย Nara Medical University ได้ทำการวิจัยและพบว่า การดื่มชาวันละถ้วยอาจช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้
สิ่งที่ค้นพบก็คือ ในชาแท้ๆ มีสารเคมีชื่อ “คาเทชิน” ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าไปจับตัวกับผิวหน้าของไวรัสอันตรายชนิดนี้ได้ ส่งผลให้เชื้อไวรัสเหมือนกับถูกเคลือบ จึงจับตัวกับเซลล์ของมนุษย์ไม่ได้ง่ายๆ โอกาสติดเชื้อก็ยากขึ้น
ในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยทดสอบกับชาเขียวและชาดำบรรจุขวดพลาสติกที่ขายกันทั่วไปในญี่ปุ่น โดยเลือกมาอย่างละ 10 ชนิดที่แตกต่างกัน เพื่อมาทดสอบในหลอดที่ใส่เชื้อไวรัสโควิด-19 เอาไว้
ผลปรากฏว่า ชาดำ ให้ผลทดสอบว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด และช่วยลดจำนวนไวรัสโควิด-19 ที่มีอานุภาพในการแพร่เชื้อได้สูงถึงร้อยละ 99 หลังจากเวลาผ่านไปเพียง 1 นาที และสูงขึ้นถึงร้อยละ 99.9 หลังจากเวลาผ่านไป 10 นาที
แต่เนื่องจากเป็นการทดสอบในหลอดทดลองซึ่งมีสภาวะแวดล้อมที่ต่างไปจากร่างกายมนุษย์เราอย่างยิ่ง นักวิจัยจึงยังไม่มั่นใจว่ามันจะทำงานได้ดีแค่ไหนในร่างกายของมนุษย์
ก่อนหน้านี้มีข้อมูลระบุด้วยว่าสารคาเทชินในชาเขียวมีคุณสมบัติยับยั้งการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จากการทดลองในสัตว์และคน ซึ่งหลักเหตุผลเดียวกันนี้เองที่นำมาใช้กับการทดลองครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของคนญี่ปุ่นที่เข้ามาอ่านข่าวนี้ ปรากฏว่าคนยังไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจกับงานวิจัยครั้งนี้สักเท่าไร
“ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ก็รู้อยู่แล้วว่าคาเทชินเป็นตัวต้านไวรัสกับเชื้อรา”
“คงรีบแห่ไปซื้อกันใหญ่คราวนี้”
“ขนาดคนในอังกฤษดื่มชาหนักยังไม่เวิร์กเลย ผมว่าถ้าจะให้ได้ผลเราต้องดื่มมากๆ เลยแหละ”
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคาเทชินไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทั้งหมด เพราะเราอาจพบสารเคมีต่างๆ ได้ในหลากหลายที่ แล้วมันก็ไม่ได้ส่งผลเหมือนกันไปทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นในเชื้อไวรัสหรือในร่างกายมนุษย์ก็ตาม ดังนั้นข้อเท็จจริงก็คือ ชายังไม่ใช่ตัวที่มาเปลี่ยนการพิสูจน์เรื่องไวรัสโควิด-19
แต่การดื่มชาในปริมาณที่พอดีก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้พร้อมไปกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการล้างมือ ที่แน่ๆ ยังไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อชาที่ว่าให้ผลในการป้องกันโรคดีที่สุดจนกว่าผู้ผลิตจะอนุญาต
สรุปเนื้อหาจาก: sankei
ผู้เขียน: มิโดริ