ญี่ปุ่นกับการปรับตัวเชิงนโยบาย “(เราต้อง) อยู่กับโควิด (ให้ได้)”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ปี 2564 นี้ประเทศไทยเราเจอกับวิกฤติโควิดที่หนักหนายิ่งกว่าปี 2563 ทั้งเรื่องยอดผู้ติดเชื้อ ทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจเจอคำสั่งปิดนั่นปิดนี่ จนกิจการห้างร้านบางประเภทเช่นร้านนวด ร้านเกม อาจถึงคราวต้องอวสาน ส่วนร้านอาหารก็ต้องดิ้นรนกันไป ห้างเดี๋ยวนี้สองทุ่มร้านรวงปิดหมดแล้วคนเดินไม่มี ส่วนญี่ปุ่นนั้น เขาเลิกคิดเรื่องล็อคดาวน์ปิดนั่นปิดนี่แล้วครับ เขาตัดสินใจออกนโยบาย WITH CORONA กันแล้ว “เราต้องอยู่กับมัน (ให้ได้)” จะเป็นอย่างไรตามไปอ่านกันเลยครับ

ญี่ปุ่นกับนโยบาย WITH CORONA

เมื่อต้นเดือนตุลามที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ยกเลิกมาตรการต่างๆ ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วโดยประกาศว่า “เราต้องอยู่กับโควิด (ให้ได้)” ซึ่งทั่วประเทศก็พากันขานรับอย่างคึกคัก เกิดการเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ แบบว่าอ่านแล้วงงเลย อาทิเช่น “ฉีดวัคซีนที่ร้านยากินิคุ” (หา)

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่เกียวโต ร้านเนื้อย่างยากินิคุแห่งหนึ่งได้เป็นที่ให้บริการฉีดวัคซีน (โห คิดได้ไง) มีคนมารับบริการฉีดถึง 200 คน ซึ่งทางผู้บริหารร้านบอกว่า ที่ทำก็เพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับทางร้าน (ประมาณว่าร้านนี้ปลอดภัยไร้โควิด) เพราะที่ผ่านมาปีนี้เจอภาวะฉุกเฉินเข้าไปจนทั้งปีมานี้ได้เปิดร้านแค่ 14 วันเท่านั้นเอง (โถ น่าสงสาร)

ส่วนคนลากรถบริการนักท่องเที่ยวที่ย่านอาซากุสะ โตเกียว บอกว่า เมื่อสุดสัปดาห์ต้นเดือนตุลาคมมานี้ “จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าสัปดาห์ที่แล้วสองเท่า รู้สึกเหมือนได้เริ่มต้นใหม่” ส่วนที่ย่านกินซ่านั้นมีคนมาเดินเที่ยวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เรียกว่ามาเดินเที่ยวกันแบบไม่สนพายุไต้ฝุ่นกันเลย

ส่วนสนามบินฮาเนดะก็กลับมาเต็มไปด้วยผู้โดยสาร บางคนบอกว่าเขารอยกเลิกภาวะฉุกเฉินมานานละ (ในที่สุดจะได้นั่งเครื่องบินกลับบ้านเสียที) จากข้อมูลของ Japan Airlines จำนวนการจองเที่ยวบินภายในประเทศต่อวันจากที่อยู่แค่ราว 5,000 คนเมื่อต้นเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คนต่อวัน ณ สิ้นเดือนกันยายน เรียกว่าคนคอยท่าอยากนั่งเครื่องบินหลังยกเลิกภาวะฉุกเฉินกันเต็มแก่แล้ว

การที่ญี่ปุ่นตัดสินใจหันมาใช้นโยบาย “อยู่กับโควิด” เพราะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงไปมาก (สวนทางกับบางประเทศ) จึงเห็นว่าญี่ปุ่นควรจะ “ผ่อนคลายกฎระเบียบ” และ “กระตุ้นการบริโภค “โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการเช่นร้านอาหาร โรงแรม ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักขนาดที่ว่ากันว่ามีคนต้องตกงานถึง 600,000 คน จากผลกระทบในคราวนี้ นอกจากนี้ความเครียดจากภาวะฉุกเฉินยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมอีกอย่างนั่นคือ CUS-HARA (Customer Harassment) ก็คือกรณีที่ลูกค้านั้นไปล่วงละเมิดพนักงานบริการด้วยการใช้กิริยาวาจารุนแรง (เหมือนในเมืองไทยมีมนุษย์ป้าไปวีนใส่เด็กเสิร์ฟในร้านอาหารอะไรประมาณนี้) ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มีมาก่อนโควิดแล้ว แต่โควิดนี่แหละทำให้มีเรื่องพวกนี้มากขึ้นไปอีก ซึ่งเรื่องที่พนักงานโดนคุกคามนั้นหลายกรณีมาจากการที่พนักงานไปเตือนลูกค้าเรื่องไม่ใส่หน้ากากภายในร้านนี่แหละครับ ว่ากันว่าที่อเมริกาเองก็มีคดีที่พนักงานถูกลูกค้าทำร้ายเพราะไปขอให้ลูกค้าสวมหน้ากาก เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคดีเกี่ยวกับการไปขอให้ลูกค้าแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน (ก่อนเข้าร้าน) ด้วย (โชคดีว่าคนไทยนี่เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำตาม ตามเซเว่นฯ หรือแม็คโครเวลาขอให้วัดอุณหภูมิหรือสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าร้านก็ทำตามกันโดยดี ไม่เห็นว่าจะมีคดีว่ามีใครวีนไม่ยอมทำ—ผู้เขียน)

การประกาศนโยบาย “อยู่กับโควิด” คราวนี้ทำให้ร้านอาหารพากันขานรับ เครือร้านอิซากายะ “วาตามิ” ประกาศว่าจะยังคงจ้างพนักงานต่อไปและค่อยๆ ทยอยกลับมาเปิดร้าน โดยในปีนี้จะจ้างคนเพิ่มอีก 100 คน ส่วนเครือร้านอิซากายะ “ทสึคาดะโนโจ” ก็มีโครงการจะฝึกอบรมพนักงานเป็นพ่อครัวยากิโทริและซูชิ แสดงว่านโยบาย “อยู่กับโควิด” นั้นสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ธุรกิจบริการขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่า ในเดือนเมษายนปีหน้า การบริโภคก็จะกลับมาดังเดิมได้อีกครั้ง

เมืองไทยจะมีโมเมนต์แบบนี้กับเขาไหมครับ (ฮา)

สรุปเนื้อหาจาก Yahoo! Japan

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save