เสียงครวญจากเด็กมหา’ลัยญี่ปุ่น: ทำไมการสอบคัดเลือกเข้าทำงานในญี่ปุ่นถึงยากขึ้นเรื่อยๆ

สมัครงาน ญี่ปุ่น

สวัสดีครับ ไม่นานมานี้มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการกับกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาและได้รับการจ้างงานมีอัตราอยู่ที่ 95.8% เห็นอย่างนี้ถือว่า “น้อยลง” ติดต่อกันเป็นปีที่สองตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนะครับ แต่อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โรคที่ดีขึ้นจึงมีแนวโน้มว่าจ้างงานในฤดูใบไม้ผลิปีถัดไปจะเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวมากขึ้น

การสมัครเข้าฝึกงานและหางานที่เปลี่ยนไปในญี่ปุ่น

แต่เดิมแล้วช่วงเดือนมิถุนายนถือว่าเป็น “ช่วงพีค” ของการหางานของนักศึกษา แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้แนวโน้มเกี่ยวกับการฝึกงานหางานเปลี่ยนไปแล้ว โดยนักศึกษาชั้นปี 3 ของมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่งในคันไซที่ใช้นามแฝงว่าอิชิคาวะ จิกะบอกว่า

“ตอนนี้บริษัทต่างๆ จะเริ่มรับนักศึกษาปี 3 เข้าฝึกงานตั้งแต่หมดช่วงเทศกาลหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม การฝึกงานนี้จะว่าไปก็คือการหางานครั้งแรกนี่ละค่ะ บริษัทเขาตั้งคุณสมบัติไว้สูงแล้วข้อสอบคัดเลือกก็ยากมาก อย่างบริษัทใหญ่ๆ กำหนดว่าต้องได้คะแนนสอบภาษาอังกฤษ TOEIC ขั้นต่ำที่ 650-700 คะแนน แล้วยังต้องสอบ SPI ที่เป็นการสอบความถนัดโดยมีคำถามจากหลายวิชา ตั้งแต่การคำนวณพื้นที่ไปถึงทฤษฎีการตลาด ข้อสอบมันยากมากๆ จนคิดว่ามีนักศึกษาคนไหนทำได้ด้วยเหรอเนี่ย แต่ทุกคนก็พยายามเต็มที่นะคะ ถ้าสอบผ่านแล้วบริษัทรับเข้าฝึกงานก็อาจจะได้รับการติดต่อมาอย่างไม่เป็นทางการช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมค่ะ”

ดูทรงแล้วพนักงานบริษัทในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยที่ในอดีตเคยคร่ำเคร่งกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอเข้าได้แล้วก็ปล่อยตัวไม่ตั้งใจเรียนไปใช้เวลาเล่นไพ่นกกระจอกมากกว่าเวลาเรียน จนขึ้นชั้นปี 4 ถึงค่อยหันมาเอาจริงเอาจังจนได้งานโดยผ่านการสอบ “พอเป็นพิธี” คงแทบจะผ่านการสอบคัดเลือกข้างต้นไม่ได้เลย มันดูเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง เพราะคนยุคเก่าสมัยโชวะที่ผ่านชีวิตแบบนั้นมากลับเป็นผู้ออกนโยบายการจ้างงานและกำหนดให้มีการสอบคัดเลือกสุดโหดกับนักเรียนยุคปัจจุบันซะงั้น

แต่ผลตอบแทนหากผ่านการสอบโหดหินได้ก็น่าสนใจไม่น้อย อย่างบริษัทซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ บางบริษัทยอมจ่ายค่าตอบแทนให้นักเรียนในระหว่างฝึกงานช่วงปิดเทอมฤดูร้อนถึงเดือนละ 300,000 เยนพ่วงค่าเดินทางอีกต่างหาก เรียกว่าเป็น “การเอาใจแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” ก็ว่าได้

อิชิคาวะคนเดิมบอกว่า “มันเป็นข้อเสนอที่ดีมากค่ะ แต่นั่นแปลว่าฉันจะไปฝึกงานที่บริษัทอื่นไม่ได้เลย เหมือนกับต้องถูกบริษัท “กั๊ก” ไว้ตลอดช่วงปิดเทอม 1 เดือน สำหรับคนที่สนใจฝึกงานกับหลายๆ บริษัทได้แต่กังวลว่าจะทำไงดี เพราะถ้าปฏิเสธการฝึกงานก็จะไม่สามารถเข้ารับการสอบคัดเลือกเข้าทำงานบริษัทนั้นได้อีกเลย”

เข้าสู่ยุคสมัยที่บริษัทต้องการคนมี IQ มากกว่า EQ

สอบเข้า ญี่ปุ่น

มาถึงคำถามที่ว่า “ทำไมการสอบคัดเลือกเข้าทำงานถึงได้ยากนัก?” คุณคันโนะ โคโซ ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลผู้มีประสบการณ์การจ้างงานในบริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่บอกว่า

“เมื่อก่อนเคยมีช่วงหนึ่งที่ยึดถือว่า EQ (Emotional Quotient หรือความฉลาดทางอารมณ์) มาก่อน IQ (Intelligence Quotient หรือความฉลาดทางสติปัญญา) ในแง่การจ้างงานมองว่าบุคคลที่มีคุณสมบัตินี้ถือว่าพร้อมที่จะเข้าทำงาน ดังนั้นนักเรียนที่เข้าสังคมเก่ง สื่อสารได้ดี และพูดเก่งก็จะได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะเข้ามาทำงานในสายงานธุรกิจ แต่พอพิจารณาในระยะยาวแล้ว “พนักงานที่สติปัญญาดีมีความเฉลียวฉลาดตั้งแต่ตอนเข้าร่วมงานต่างหากที่เป็นกำลังสำคัญของบริษัท” ผมคิดว่าบริษัทต่างๆ มองเห็นตรงจุดนี้จึงเริ่มจัดการสอบคัดเลือกเข้าทำงานให้ยากขึ้น”

สรุปว่าการคัดเลือกเข้าทำงานของคนญี่ปุ่นหันมาให้ความสำคัญกับข้อสอบยากๆ เพื่อคัดกรองเอาคนที่ฉลาดและมีความสามารถจริงๆ จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับคนที่เข้าสังคมกับพรีเซนต์ตัวเองเก่งครับ

สรุปเนื้อหาจาก nikkan gendai

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save