iCeMS (Institute for Integrated Cell-Material Sciences) ศูนย์วิจัยในเครือมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์คมชัดสูงด้วยการจัดเรียงไมโครไฟบริล (OM: Organized microfibrillation) โดยทำการพิมพ์ภาพคลาสสิคอมตะ “คานะกะวะโอกินามิอุระ” ผลงานภาพวาดจากจิตรกรชื่อดังในยุคเอโดะ “คะสึชิกะ โฮคุไซ” ขนาดจิ๋ว 1 มิลลิเมตรออกมาเป็นผลสำเร็จ
ศาสตราจารย์ Easan Sivaniah ชาวอังกฤษ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัย iCeMS ได้อธิบายเทคโนโลยีสุดทึ่งนี้เอาไว้ว่า เทคโนโลยีนี้ใช้การราน (Crazing) หรือการแตกลายงาบนผิวเคลือบ เกิดจากการขยายตัวที่ไม่เท่ากันของวัสดุใต้ผิวเคลือบ ทำให้ชั้นเคลือบได้รับแรงเค้นดึงและเกิดการรานบนผิวจนกลายเป็นภาพพิมพ์ในที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดขึ้นเช่น หากเราหักพลาสติก ตรงรอยหักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสี ด้วยหลักการนี้หากเราจัดเรียงไมโครไฟบริลของโพลิเมอร์ในชั้นเคลือบอย่างที่ต้องการก็จะสามารถพิมพ์ออกมาเป็นภาพได้นั่นเอง
ทางศูนย์วิจัยได้พัฒนาเทคนิคการจัดเรียงไฟบริลที่ทำให้เกิดการสะท้อนแสงกลายเป็นพิมพ์สีเฉพาะที่อยู่ในช่วงที่ตาสามารถมองเห็นได้ โดยเทคนิค OM ใช้ได้กับวัสดุที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่มีความอ่อนนุ่มจนถึงวัสดุโปร่งแสง มีค่าความละเอียดของภาพสูงถึง 14000 dpi และศาสตราจารย์ Easan Sivaniah ยังสนใจจะค้นคว้าต่อไปเกี่ยวกับการพิมพ์ข้อมูลลงบนชิป คอนแทคเลนส์ หรือวัตถุอื่นๆ ที่ติดอยู่บนร่างกายมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี OM แล้วบันทึกข้อมูลดังกล่าวบนคลาวด์หรือเซิร์ฟเวอร์เพื่อใช้ในวงการแพทย์ เชื่อว่าหากสำเร็จจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับระบบสาธารณสุขเลยล่ะค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: nalb.itmedia