“Petite Escalator” บันไดเลื่อนในญี่ปุ่นที่เกิดจากความบังเอิญ สู่กินเนสส์บุ๊ก

บันไดเลื่อน

บันไดเลื่อนเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่เข้าใจว่าบันไดเลื่อนในภาพจำของหลายๆ คนคงจะเป็นบันไดที่เชื่อมระหว่างชั้นในสถานีรถไฟ หรืออาคารต่างๆ และมีจำนวนหลายขั้น (อย่างต่ำก็น่าสิบกว่าขั้นขึ้นไป) แต่ที่ญี่ปุ่นมีบันไดเลื่อนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness Book of World Records) ว่าเป็นบันไดเลื่อนที่สั้นที่สุดในโลก ด้วยความสูงเพียง 5 ขั้น และวัดความสูงได้ประมาณ 83.4 เซนติเมตรเท่านั้น

จากบันไดเลื่อนที่เหมือนจะธรรมดา แต่กลายเป็นจุดเช็คอินที่ทั้งคนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างแวะเวียนมาดูให้เห็นกับตา ว่าบันไดเลื่อนที่ได้บันทึกในสถิติโลกกินเนสส์จะหน้าตาเป็นอย่างไร หลายคนอาจสงสัยว่ายบันไดเลื่อนทีว่านี้มีที่มาอย่างไร ในครั้งนี้เราจะพาไปแนะนำให้รู้จักกันค่ะ

เหตุเกิดจากความบังเอิญ

พิกัดของบันไดเลื่อนที่สั้นที่สุดในโลกนี้ อยู่ที่ชั้นใต้ดิน B2 ของห้างสรรพสินค้า Kawasaki MORE’s (川崎モアーズ) ใกล้กับสถานีรถไฟ JR คาวาซากิ เมืองคาวาซากิ (川崎市) จังหวัดคานางาวะ โดยถูกสร้างขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ.1989 หรือประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย Kana Ong Wee (@kanana.toki)

ก่อนที่จะมีห้างฯ Kawasaki MORE’s เดิมทีบริเวณนี้มี Kawasaki Azelea (川崎アゼリア) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่เชื่อมกับสถานีคาวาซากิอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมีแผนการสร้าง Kawasaki MORE’s มาอยู่ติดกัน จึงมีการสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง แต่ด้วยความที่ความสูงแต่ละชั้นของอาคารไม่เท่ากัน ทำให้บริเวณชั้นใต้ดินของ Kawasaki Azelea ดันมีตำแหน่งอยู่ระหว่างชั้นใต้ดิน B1 และ B2 ของ Kawasaki MORE’s

เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างของทั้งสองอาคารที่ทำให้ไม่สามารถทำบันไดธรรมดาเพื่อเชื่อมทั้งสองห้างฯได้ ทีมงานก่อสร้างจึงตัดสินใจสร้างบันไดแบบลูกผสม นั่นคือมีบันไดธรรมดาก่อน 5 ขั้น และต่อด้วยบันไดเลื่อนอีก 5 ขั้น

ขึ้นทะเบียนกับบันทึกสถิติโลกกินเนสส์

ไหนๆ ก็สร้างบันไดเลื่อนที่สั้นขนาดนี้แล้ว บริษัทเจ้าของอาคารเลยตัดสินใจว่าจะลองขอขึ้นทะเบียนกับกินเนสส์ดู และสุดท้ายก็ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็น “บันไดเลื่อนที่สั้นที่สุดในโลก” ในปี 1991

จากนั้น ก็มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เจ้าบันไดเลื่อนนี้ โดยจัดการประกวดตั้งชื่อบันไดเลื่อน โดยมีผู้ส่งชื่อเข้าร่วมประกวดกว่า 1,500 ชื่อ

ในบรรดาชื่อเหล่านั้นก็มีหลากหลาย เช่น Mini Esca (ミニエスカ) และ Five steps (ファイブステップ) และสุดท้ายชื่อที่เข้าตากรรมการมากที่สุดจนได้รับเลือกคือ Petite Calator (プチカレーター) และกลายเป็นชื่อเล่นของเจ้าบันไดเลื่อนนี้ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน

จากการได้ขึ้นทะเบียนระดับโลก และกิจกรรมประกวดตั้งชื่อที่มีผู้เข้าร่วมมากมาย ทำให้บันไดเลื่อนนี้กลายเป็นหัวข้อที่สื่อต่างๆ ให้ความสนใจจนได้ถูกกล่าวถึงในรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อีกทั้งยังกลายเป็นจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแวะมาเยี่ยมเยียนอีกด้วย

เห็นเล็กๆ แบบนี้แต่ไม่ได้สร้างกันง่ายๆ

บริษัทที่รับผิดชอบการสร้างและดูแลบันไดเลื่อนนี้คือบริษัทฮิตาชิ หรือ HITACHI (日立) ซึ่งผู้รับผิดชอบให้ข้อมูลว่า Petite Calator เป็นบันไดเลื่อนที่สั้นที่สุดตั้งแต่บริษัทเคยทำมา

การที่มีระยะทางสั้นกลับกลายเป็นความยากของผู้ออกแบบ เนื่องจากระบบการทำงานของบันไดเลื่อนจำเป็นต้องใช้พื้นที่ใต้ขั้นบันไดในการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อควบคุมการทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัย พื้นที่ใต้ขั้นบันไดของ Petite Calator มีค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ผู้ออกแบบต้องใช้ความสามารถและเทคนิคต่างๆ ที่จะจัดวางอุปกรณ์ที่จำเป็นภายในพื้นที่เล็กๆ นี้ได้

นอกเหนือจากสถิติ “สั้นที่สุด” แล้ว การใช้เทคโนโลยีและความสามารถในการออกแบบเพื่อสร้างเจ้าบันไดเลื่อนนี้ ทำให้ที่ทำการเมืองคาวาซากิเห็นความสำคัญและจับมาเป็นจุดขาย ในปี 2003 ทางการเมืองคาวาซากิได้นำเรื่องราวของ Petite Calator ไปจัดแสดงใน Kawasaki Industrial Museum (かわさき産業ミュージアム) ในฐานะสิ่งที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (現代の産業文化財)

 

ดูโพสต์นี้บน Instagram

 

โพสต์ที่แชร์โดย @bear_paw

ใครจะคิดว่าบันไดเลื่อนที่เกิดจากความบังเอิญและข้อจำกัดในการก่อสร้าง สุดท้ายจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกบันทึกว่าเป็น “ที่สุด” ในระดับโลก ได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจของสื่อ แถมกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เชิญชวนให้ผู้คนแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันขนาดนี้

ใครอยากรู้ว่าบันไดเลื่อนแสนสั้นนี้ของจริงจะเป็นอย่างไร หากได้ไปเที่ยวเมืองคาวาซากิก็ลองแวะไปชม ไปถ่ายรูปเช็คอินกันได้นะคะ

สรุปเนื้อหาจาก itmedia

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save