รีวิวการฉีดวัคซีน Pfizer ในญี่ปุ่น

{"origin":"gallery","uid":"AFCADE9C-4F10-4F12-88D2-372685E935D3_1622964850563","source":"other"}

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้เราจะมารีวิวการรับวัคซีนในญี่ปุ่น ผ่านโควต้าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกในญี่ปุ่น โดยในบทความนี้ได้ทำการสัมภาษณ์คุณหมอ 2 ท่าน ที่มีช่วงอายุต่างกันในพื้นที่จังหวัดฮอกไกโด (การจัดการวัคซีนอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละโรงพยาบาล)

ก่อนรับวัคซีน

ก่อนรับวัคซีน ประมาณช่วงเดือนมีนาคม บุคลากรทางการแพทย์ที่ประสงค์จะเข้ารับวัคซีนจะต้องตอบแบบสอบถามเสียก่อน เช่น เคยรับวัคซีนเกี่ยวกับโควิดมาก่อนหรือไม่ ปัจจุบันมีอาการป่วยหรือกำลังรับประทานยาอยู่หรือไม่ ฯลฯ

โดยวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นี้รัฐบาลไม่ได้บังคับ สามารถเลือกฉีดได้ตามความสมัครใจ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยังรับรองให้ฉีดได้เพียง 2 ยี่ห้อคือ Pfizer และ Moderna โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะใช้วัคซีนจาก Pfizer ทั้งหมด แต่หากบุคลาการทางการแพทย์ท่านใดไม่มั่นใจในวัคซีนก็สามารถปฏิเสธการรับวัคซีนได้

ขั้นตอนการรับวัคซีน

ในกรณีของแพทย์และพยาบาล จะมีการสลับตารางเวรกันฉีด ไม่ได้ฉีดพร้อมกันทีเดียวเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากวัคซีน เนื่องจากไม่เคยมีใครได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน หากเกิดอาการผิดปกติหรือต้องลางานในวันรุ่งขึ้นอาจจะส่งผลต่อคนไข้คนอื่นๆ ได้ ดังนั้นในกรณีโรงพยาบาลที่มีแพทย์น้อยๆ มักจะฉีดวัคซีนกันวันศุกร์

จะมีการสกรีนผู้เข้ารับวัคซีนด้วยการเช็คชื่อ ประวัติการแพ้แอลกอฮอล์ (หากแพ้แอลกอฮอล์จะเช็ดพื้นผิวด้วยน้ำยาที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์) ก่อนเป็นอันดับแรก

สำหรับคนไข้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นลมล้มพับหลังจากฉีด ทางโรงพยาบาลก็ได้เตรียมเตียงเอาไว้ค่ะ สามารถฉีดใขณะที่นอนอยู่ได้

การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อส่วน Deltoid Muscle
ต้องปักเข็มลงไปในมุม 90 องศา และต้องแทงให้ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ

ผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้

  • มีไข้เกิน 37.5 องศา หากอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 จะไม่สามารถฉีดได้
  • มีอาการป่วยหนักที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีความเสี่ยง
  • มีประวัติการแพ้วัคซีนหรือ anaphylaxis ( アナフィラキシー) มาก่อน

ผู้ที่ควรระวังในการรับวัคซีน

  • ผู้ที่รับยาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีเกล็ดเลือดน้อย หรือผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
  • คนที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก่อน หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาตั้งแต่กำเนิด
  • คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต และหรือโรคที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด
  • คนที่มีอาการภูมิแพ้ หรือเคยมีอาการผิดปกติเมื่อฉีดวัคซีนตัวอื่นๆ
  • คนที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
  • คนที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้ส่วนผสมในวัคซีน

หลังจากฉีดเรียบร้อยแล้วจะมีพื้นที่ให้พักรอประมาณ 15 นาที/คน โดยหลังฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกาย หรือการใช้กล้ามเนื้อออกแรงอื่นๆ เช่น ยกของหนัก เป็นเวลา 1 วัน

อาการหลังจากฉีด

คุณหมอท่านแรกที่เราติดตามอาการ เป็นคุณหมอในแผนกอายุรกรรม ช่วงอายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง

คุณหมอได้รับวัคซีน Pfizer เข็มแรกช่วงปลายเดือนเมษายน หลังจากรับวัคซีนเข็มแรกไม่มีอาการใดๆ แต่อีก 3 สัปดาห์ต่อมาหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว คุณหมอรู้สึกปวดแขนบริเวณที่ฉีด แต่อาการก็หายไปภายใน 2-3 วัน โดยกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นหลังจากรับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งหลังจาก 3 สัปดาห์ผ่านไปคุณหมอก็ยังปกติดี

ส่วนคุณหมอท่านที่ 2 เป็นคุณหมอในแผนกทันตกรรม ช่วงอายุ 30 ปี ไม่มีโรคประจำตัว อาการคล้ายๆ กับคุณหมอท่านแรกคือหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วไม่มีอาการใดๆ แต่หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วก็ปวดแขนข้างที่ฉีดมากๆ  จนต้องกินยาแก้ปวด และรู้สึกยกแขนไม่ค่อยขึ้น ประมาณ 1-2วัน จากนั้นอาการก็กลับมาเป็นปกติดี และหลังจากรับวัคซีนครบโดสผ่านไป 3 อาทิตย์อาการก็ยังปกติดี

ฉลากวัคซีนที่ได้รับในครั้งนี้ จะเห็นว่าอายุของวัคซีนนั้นค่อยข้างสั้นเลย เราจึงจะเห็นจากข่าวว่ามีการเร่งฉีดวัคซีนมากขึ้นในช่วงหลังๆ ไม่งั้นจะต้องทิ้งวัคซีนที่เหลืออยู่ทั้งหมด

จากบันทึกทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นที่ได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนของ Pfizer ให้แก่บุคลากรทางแพทย์จำนวน 19,000 เคส พบว่าผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกนั้น 3.3% มีไข้ขึ้นสูงมากกว่า 37.5 องศา และ 38.1% มีไข้หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และไข้จะลดลงภายในเวลา 1-2 วัน โดยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพศหญิงที่อายุยังน้อย (รายงานไม่ได้แจ้งรายละเอียดเรื่องอายุ)

หลังการฉีดหากมีไข้หรือมีอาการปวด ยาแก้ปวดที่ทางโรงพยาบาลแนะนำให้กินคือ Acetaminophen หรือถ้าเทียบกับยาที่ไทยก็คือยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลนั่นเอง ในขณะที่ยาแก้ปวดทั่วไปในญี่ปุ่น เช่น EVE หรือ Loxoprofen ที่ปกติเป็นยาแก้ปวดที่เป็นที่นิยมมาในญี่ปุ่นนั้นทางโรงพยาบาลไม่แนะนำให้กินในกรณีที่ปวดเนื้อปวดตัวหรือมีไข้เนื่องจากผลข้างเคียงของวัคซีน

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นแจ้งว่าตอนนี้มีวัคซีนเพียงพอแล้ว แต่ติดปัญญาเรื่องบุคคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนค่ะ โดนระยะหลังนี้ในเขตที่ขาดแคลนแพทย์ได้มีการฝึกให้ทันตแพทย์สามารถฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ได้ด้วย โดยทางโรงพยาบาลที่ผู้เขียนได้ทำการสอบถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโดยทันตแพทย์กล่าวว่า แล้วแต่ความสมัครใจของแพทย์ด้วยว่าจะทำหรือไม่ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของทันตแพทย์โดยตรง แต่หากว่ายินดีช่วย ทางโรงพยาบาลก็มีค่าล่วงเวลาสำหรับทันตแพทย์ที่จะมาช่วยฉีดวัคซีนให้แก่คนไข้

ขอบคุณข้อมูลและรูปประกอบบางส่วนจาก: สมาคมการแพทย์ฮาโกดาเตะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บริการ

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save