สวัสดีครับ หลังจากที่คราวที่แล้วได้พูดถึงเรื่องการพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นไปแล้ว วันนี้จะพูดถึงเรื่องของเหตุผลความจำเป็นในการผลักดันให้มีการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียน” ของประเทศญี่ปุ่นกันนะครับ
ญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าว่าในปี พ.ศ. 2593 คืออีก 29 ปีข้างหน้าจะต้องมีปริมาณการปล่อย CO2 “เป็นศูนย์” เพื่อการนี้ ญี่ปุ่นเองก็พยายามมองหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน และไฟฟ้าพลังลม (โดยอาศัยแรงลมจากชายฝั่ง) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 46% (เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2556) ให้ได้ในปี พ.ศ.2573 เนื่องจาก ณ ปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปล่อย CO2 มากเป็นอันดับห้าของโลก! (อันดับหนึ่งคือจีน สองคือสหรัฐ สามคืออินเดีย สี่คือรัสเซีย) ซึ่ง 40% ของ CO2 ที่ถูกปล่อยออกมาในญี่ปุ่นนั้นมาจากการผลิตกระแสไฟฟ้า พูดอีกอย่างคือ ถ้าจะลดปริมาณการปล่อย CO2 ก็ต้องหาวิธี “ทางเลือก” ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นนั้น เพิ่มขึ้นจาก 1% ในปี พ.ศ. 2553 เป็น 10% ในปี พ.ศ. 2562 มันดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องไปต่อ
เพราะว่าในร่างของ “แผนการพื้นฐานพลังงาน” ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น ได้กำหนดเป้าหมายอัตราส่วนของ “พลังงานหมุนเวียน” ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 36-38% (เดิมอยู่ที่ 22-24%) แม้ว่า “พลังงานหมุนเวียน” นั้นมักจะถูกติว่า “ต้นทุนสูง” แต่ล่าสุดเดือนกรกฎาคมนั้น กระทรวงเศรษฐกิจฯ ของญี่ปุ่นนั้นได้คาดการณ์ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในปี พ.ศ. 2573 จะลดลงมาเหลือ 8 ถึง 11 เยนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (ซึ่งถูกกว่าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งอยู่ที่ 11 เยนขึ้นไป)
ผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เรื่องต้นทุนคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะต้องนำมาคิด ในวันที่ภาวะโลกร้อยกำลังวิ่งไล่ตามเราอยู่ทุกวันๆ ก็ขอให้เราชนชาวโลกสามารถไปได้ถึงจุดที่เราจะมีพลังงานสะอาดและยั่งยืนไว้ใช้กันในอนาคตนะครับ
สรุปเนื้อหาจาก ichiyoshi